รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน ขยะล้นเมืองแก้ได้ง่ายนิดเดียว RDF เป็นคำตอบจริงหรือ? ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพุธที่ 12 กันยายน 2561
ปัญหาขยะล้นเมืองถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติต่อไปอย่างแน่นอน หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเจ้าภาพหลักที่จะต้องไปหาทางออกร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม พลังงาน สาธารณสุข มหาดไทย กระทรวงการคลัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคเอกชน ที่กำลังคิดจะทำโครงการก้อนเชื้อเพลิงขยะ หรือ Refuse Derived Fuel ที่เรียกย่อๆว่า RDF สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยไม่สร้างผลกระทบซ้ำให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
สำหรับโครงการ RDF คือการแยกขยะในชุมชนไปผลิตเป็นก้อนเชื้อเพลิง และนำเชื้อเพลิงนั้นไปใช้ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังวิตกคือกระบวนการผลิตที่อาจไม่ได้มาตรฐาน และนำไปสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ซี่งดร.สมนึก จงมีวศิน ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เสนอแนะและตั้งข้อสังเกตถึงจุดอ่อนช่องโหว่ของโครงการก้อนขยะเชื้อเพลิงไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้จะมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน แต่ในกระบวนการกว่าจะมาเป็นก้อนเชื้อเพลิงจากขยะนั้นมีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งแน่นอนว่าเงินลงทุนก็สูงตามไปด้วย
การนำขยะไปทำก้อนเชื้อเพลิงมีทั้งแบบที่เอกชนรับซื้อขยะจากชุมชนไปดำเนินการผลิต และชุมชนเป็นผู้ผลิตก้อนขยะเชื้อเพลิงแล้วขายให้โรงงานต่างๆ ซึ่งหากกระบวนการผลิตและกำจัดกากของเสียไม่มีประสิทธิภาพพอจะทำให้สารพิษที่อยู่ในตัวขยะออกมาปนเปื้อนในอากาศและแหล่งน้ำ ซึ่งเท่ากับว่าชาวบ้านยังต้องเผชิญกับปัญหาสารพิษอยู่เช่นเดิม ดังนั้นการที่ชุมชนจะผลิตก้อน RDF โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสารพิษคงเป็นเรื่องยาก ขณะที่โรงงานที่รับซื้อขยะไปผลิตก้อน RDF ขายก็ต้องใช้เงินลงทุนระดับพันล้านจึงจะได้ระบบที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ พื้นที่เป้าหมายในการทำโครงการ RDF นั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการนำขยะมาทิ้งทับถมอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 324 จุดทั่วประเทศ มีทั้งที่บริษัทรับจ้างกำจัดขยะเช่าและซื้อที่ดินเพื่อรองขยะที่นำมาทิ้ง และพื้นที่ว่างเปล่าที่มีผู้ลักลอบนำขยะมาทิ้งอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งปริมาณขยะจำนวนมหาศาลได้ส่งผลกระทบกับชุมชนรอบข้าง หลายหน่วยงานโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงพยายามหาทางแก้ไข ซึ่ง RDF ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาขยะล้นเมืองได้
ขณะที่ภาคเอกชนก็สนใจ RDF เช่นกัน เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนสูงและมีราคาถูก จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในภาพรวมชุมชนและบริษัทเอกชนได้กำหนดรูปแบบการซื้อขายขยะไว้ 2 รูปแบบคือ เอกชนเป็นผู้ลงทุนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงขยะให้ท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่รัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตรจากโรงงานที่ผลิตเชื้อเพลิงขยะ โดยมีการทำสัญญา 15 ปี แต่ท้องถิ่นจะต้องจ่ายค่าจ้างในการกำจัดขยะมูลฝอยให้เอกชนในอัตรา 100-200 บาท/ตัน อีกรูปแบบคือท้องถิ่นลงทุนและผลิต RDF เองทั้งหมด โดยเอกชนเข้ามารับซื้อ RDF ในราคา 800 บาท/ตัน ซึ่งเชื้อเพลิงขยะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดคือ ค่าความร้อนของเชื้อเพลิงขยะต้องอยู่ที่ 4,300-4,500 กิโลแคลอรี
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการนำขยะไปผลิตเป็น RDF มีเรื่องที่ต้องคิดอยู่ 3 ประเด็นคือ เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงเรื่องของประสิทธิภาพในการกำจัดสารพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิต และ ปัญหาเรื่องของเชื้อเพลิง RDF จะเป็นตามเกณฑ์ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการหรือไม่ ดังนั้น การคิดจะแก้ปัญหาขยะล้นเมืองจึงควรแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยการรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้วัสดุที่จะเป็นขยะพิษ เช่น โฟม พลาสติก และมีการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และควรส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ไบโอพลาสติกที่ผลิตจากพืช เช่น มันสำปะหลัง ซังข้าวโพด ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และไม่เกิดมลพิษ หากประชาชนหันมาใช้ไบโอพลาสติกกันมากขึ้น ต้นทุนการผลิตก็จะลดลง ราคาก็จะลดลงตามไปด้วย
ซึ่งหากทำตามนี้ เชื่อว่าปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะพิษจะลดลงมากเลยทีเดียว และที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องช่วยกันลดปริมาณขยะตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เมื่อปริมาณขยะลดลงปัญหาก็จะลดลงตามไปด้วย ทำง่ายๆหากทุกคนช่วยกัน จะได้ไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่า ขยะที่จะนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนหรือไม่ หรือประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าขยะดีหรือเปล่า ซึ่งล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น
ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน