xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : หยุด! คนไทยตายผ่อนจากสารพิษตกค้าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน หยุด! คนไทยตายผ่อนจากสารพิษตกค้าง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพุธที่ 5 กันยายน 2561



ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นผลมาจากการอุปโภค-บริโภค สารเคมีตกค้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งสารพิษทั้งหมดสะสมอยู่ทั้งในดิน น้ำ อาหาร และอากาศ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสารพิษจากยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง กระทั่งเครือข่ายภาคประชาชนหลายร้อยองค์กรลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศแบนสารเคมีบางตัวที่เป็นส่วนผสมหลักในยาฆ่าหญ้า

จากข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-Pan) ระบุว่า คนไทยมีสารพิษตกค้างในร่างกายในระดับที่น่าเป็นห่วง จากการสุ่มตรวจประชาชน 500 คน มีเพียง 1% เท่านั้นที่ไม่พบสารพิษตกค้างในเลือด ส่วน 99% ที่พบสารพิษตกค้างในเลือดนั้น 80% อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัย ขณะที่อีก 19% ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ พบว่า จากการตรวจอุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้ทารกแรกคลอดจากแม่ที่อยู่ในพื้นที่การเกษตร มีทารกถึง 57.4% ที่มีพาราควอตซึ่งเป็นสารพิษที่อยู่ในยาฆ่าหญ้าปนเปื้อนในปริมาณมาก แสดงให้เห็นว่าสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายของแม่ได้ส่งต่อถึงทารกในครรภ์ด้วย

จากการวิเคราะห์พบว่าสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้ 3 วิธี คือ จากการสัมผัส การสูดดม และการกิน เกษตรกรมักไม่บริโภคพืชผักที่ตนเองฉีดยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง ขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผักผลไม้ใดที่มีสารพิษตกค้างบ้าง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไทยแพนได้ส่งพืชผักจำนวน 100 ชนิดไปตรวจสอบที่สถาบันวิจัยในอังกฤษ พบว่า 60 ชนิดเป็นพืชผักที่ดูดซึมสารพิษเข้าไปเก็บในเซลล์ จึงไม่สามารถล้างออกได้ ขณะที่อีก 40 ชนิด สารพิษปนเปื้อนอยู่บนผิวด้านนอก สามารถล้างออกได้แต่ไม่หมด ดังนั้นโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับสารพิษจากการรับประทานจึงมีสูงมาก

โดยตัวที่พบว่ามีสารตกค้าง 100% คือ ส้มสายน้ำผึ้ง และผักยอดนิยม 5 ชนิด คือ ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึง 64% เป็นผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง และสายบัว มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 43% ส่วนผลไม้ที่มีสารตกค้างสูงมี 6 ชนิด ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด มีสารตกค้าง 33%

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BIOTHAI) ได้ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศแบน พาราควอต และไกลโฟเซต สารพิษซึ่งอยู่ในยาฆ่าหญ้า และ “คลอร์ไพริฟอส” สารพิษร้ายแรงซึ่งเป็นส่วนผสมของยากำจัดแมลง ได้ตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น การตัดสินใจต่างๆ มีแนวโน้มที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จำหน่ายยากำจัดศัตรูพืช ที่สำคัญโครงสร้างของคณะกรรมการฯ ก็มีความผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากผู้ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยข้าราชการบางคนที่เป็นกรรมการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทผู้ผลิตยากำจัดศัตรูพืช ขณะเดียวกันก็มีการแต่งตั้งเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตยากำจัดศัตรูพืชดังกล่าวมาร่วมเป็นกรรมการ ส่งผลให้การตัดสินใจต่างๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนเท่าที่ควร ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดตลอดเวลา 20 กว่าปีตั้งแต่มีคณะกรรมการวัตถุอันตรายเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน จึงไม่เคยมีการประกาศแบนสารอันตรายชนิดใดเลยแม้แต่ตัวเดียว

จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาพิษภัยจากสารเคมีตั้งแต่โครงสร้างเชิงนโยบาย ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุหลังจากที่มีการใช้สารพิษที่เป็นภัยต่อสุขภาพในกระบวนการเพาะปลูกไปแล้ว ประชาชนจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อการบริโภคสารพิษเหมือนตายผ่อนส่งอีกต่อไป

ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น