รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 พาคุณผู้ชมไปพบกับเรื่องราวของ "วรวิทย์ คงบางปอ" หรืออาร์ม เด็กหนุ่มจาก จ.ระนอง ที่ชีวิตพลิกผันหลายครั้ง จากเด็กที่เรียนในระบบ ต้องออกมาเรียนนอกระบบ (กศน.-การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) แต่ด้วยใจที่มุ่งมั่น ทำให้เขาพบความสำเร็จ
ก่อนชีวิตวรวิทย์จะมาถึงวันนี้ วันที่เป็น นพท.(นักเรียนแพทย์ทหาร) ชั้นปี 4 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า เขาก็เหมือนเด็กทั่วไป ที่เรียนในโรงเรียนในระบบแห่งหนึ่งที่ จ.ระนอง บ้านเกิด
"ตั้งแต่ ม.ต้น ผมไม่ใช่เด็กเก่งอะไร พ่ออยากให้สอบเข้านายร้อย ให้ติวเข้านายร้อยที่โรงเรียนกวดวิชาระนองอัสมา ผมไม่ได้อยากเป็นนายร้อย ก็เรียนๆ เล่นๆ" คำบอกเล่าของวรวิทย์น่าจะยืนยันได้ว่า คนที่จะสอบติดแพทย์ในเวลาต่อมา ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งตั้งแต่ ม.ต้นก็ได้
เมื่อใจไม่ได้อยากเป็นนายร้อย ต่อให้เรียนกวดวิชาแค่ไหน ก็ไม่แปลกที่วรวิทย์จะสอบไม่ติดนายร้อย แม้จะสอบถึง 2 ครั้ง 2 ครา คือหลังจบ ม.3 และ ม.4
ไม่เพียงสอบไม่ติดนายร้อย แต่ชีวิตของวรวิทย์ยังพลิกผัน มีอันต้องเข้ามาเรียนใน ม.5 ในกรุงเทพฯ หลังครูที่โรงเรียนกวดวิชา จะย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และเอ่ยปากชวนลูกศิษย์ว่าใครสนใจเข้ามาด้วยมั้ย วรวิทย์และเด็กอื่นๆ อีก ราว 10 คนจึงตัดสินใจตามครูมาด้วย หลังพ่อแม่อนุญาต
แต่เหมือนชะตาฟ้าลิขิตว่า วรวิทย์จะต้องได้กลับไปอยู่บ้านเกิด จึงมีเหตุให้เป็นเช่นนั้น เมื่อครูที่ชวนวรวิทย์และเพื่อนมาเรียนในกรุงเทพฯ มีความจำเป็นต้องย้ายกลับไปอยู่ระนองอีกครั้ง
"ตอนนั้นผมต้องตัดสินใจแล้วว่า จะเรียนต่อหรือจะกลับระนอง ผมคิดว่าใน กทม.ผมไม่มีบ้านเลย ถ้าอยู่ต่อต้องอยู่คนเดียว สังคมที่นี่ก็ไม่มี เพื่อนก็ไม่ค่อยมี เลยต้องย้ายกลับระนอง"
หลังกลับมาอยู่ระนอง วรวิทย์ตัดสินใจไปสมัครเรียน ม.5 ที่โรงเรียนเดิมที่ตัวเองเคยเรียนถึง ม.4 ก่อนย้ายไปเรียนในกรุงเทพฯ แต่ชีวิตไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะโรงเรียนเดิมปฏิเสธไม่รับเข้าเรียน!
"เขาก็ไม่รับ เขาบอกหน่วยกิตที่ผมเรียน ม.4 ไม่เหมือนของเขา ที่เปลี่ยนใหม่ ผมไปกับพี่สาว ก็ไม่รู้สึกอะไร แต่มีคำหนึ่งที่ครูพูดว่า ถ้าไม่มีที่เรียนจริงๆ ก็ไปเรียน กศน.สิ ใครๆ ก็เรียนกัน ความรู้สึกผมตอนนั้น 15-16 รู้สึกแบบคำว่า กศน. เอาความรู้สึกคนทั่วไป คำว่า กศน.ต่างจาก รร.ในระบบอยู่แล้ว ถ้ามุมมองในสังคม กศน.คือที่รองรับเด็กที่ไม่สามารถเรียนในระบบได้ หรือมีปัญหาในระบบ ผมรู้สึก แย่มาก ว่าทำไมระบบถึงเป็นอย่างนี้ ตอนนั้นก็โกรธ เมื่อเขาพูดแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผมต้องอ้อนวอนเพื่อเข้าไปเรียนต่อ ผมคิดว่าถ้าผมเรียน กศน.ผมก็ทำได้ ไม่ได้คิดว่าต้องสอบหมอ งั้นไปเรียน กศน.ก็ได้ เรียน กศน.ก็สามารถประสบความสำเร็จได้"
แม่ถึงกับลมจับ เมื่อรู้ลูกชายต้องเรียน กศน.
"ตอนกลับมาถึงบ้าน แม่ถาม เลยบอกไปเรียน กศน.แล้ว แม่ก็ลมจับ เป็นลม ร้องไห้ ในมุมมองของท่านคือ เรียนในโรงเรียนปกติ ไม่ได้มีปัญหาทะเลาะวิวาท ไม่ดูเป็นเด็กไม่ดี แต่ต้องเป็นเด็กไม่มีที่เรียน ผมก็เข้าใจหัวอกท่าน"
"พอดีน้องเขาตัดสินใจไป กศน.ตอนแรกแม่ก็เครียดมาก จะเรียนอย่างไร จะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไร กลัววิชาเขาจะไม่แน่น เพราะเรียนไม่เหมือนภาคปกติทั่วไป" วาสนา คงบางปอ คุณแม่ของวรวิทย์ ยอมรับว่าเครียดที่ลูกต้องเรียน กศน.
เมื่อตัดสินใจเรียน กศน. วรวิทย์จึงเริ่มวางแผนและบริหารเวลาในการอ่านหนังสือ เพราะต้องเรียนใหม่หมด ทั้ง ม.4-5-6
"กศน.อาทิตย์หนึ่ง เรียน 1-2 ครั้ง ที่เหลือให้รายงาน และทำมาส่ง ผมอาศัยข้อดีตรงนี้ มีเวลาว่างเยอะกว่าในการอ่านหนังสือ มีทั้งอ่านเอง และไปติวด้วย แต่การติวต้องข้ามจังหวัดไปติว เพราะระนองไม่มี ผมไม่มีเวลาไปติวเยอะขนาดนั้น ส่วนใหญ่อ่านเอง และแบ่งเนื้อหา ความเข้มข้น เวลาเหลือเท่านี้ ต้องอ่านจบเท่านี้ เดือนหนึ่ง วันหนึ่งต้องอ่านเท่านี้ วางแผนตั้งแต่จุดเล็กไปจุดใหญ่ เพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาด" วรวิทย์เผยเคล็ดลับการอ่านหนังสือ
"ภายใน 1 วัน เขาจะวางแผนเลยว่า เขาจะอ่านหนังสือกี่ ชม. ลงมาข้างล่างกี่โมง ขึ้นตอนไหน นอนตอนไหน เขาจะแบ่งเวลาเป็นตาราง ถ้าเขาอ่านหนังสือไปนาน 4-5 ชม. บ่ายๆ ลงมาแกล้งแม่ 2-3 ครั้ง เขาก็จะขึ้นไป ถ้านับในบรรดา 3 คนพี่น้อง เขาจะเป็นคนที่เรียนหนังสือ ตั้งกฏระเบียบจัดตารางชีวิตตัวเองได้ดีที่สุด เขาเป็นคนมีระเบียบ" เบ็ญจมาภรณ์ คงบางปอ พี่สาววรวิทย์ฉายภาพการบริหารเวลาอ่านหนังสือของน้องชาย
วรวิทย์ไม่เพียงมีความมุ่งมั่นในการอ่านหนังสือ แต่เขายังเป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือสังคม ซึ่งในที่สุด จุดนี้เอง ที่ทำให้เขาค้นพบตัวเองว่า อาชีพในฝันที่อยากเป็นคืออะไร
"ผมโทรไปหาวิทย์ เรามีโครงการช่วยเหลือเด็กกำพร้านะ โครงการช่วยเหลือน้ำท่วมนะ วิทย์ว่างมั้ย วิทย์จะตอบแทบทันทีเลย แล้วเขาก็มา ...มีอยู่วันหนึ่ง วิทย์เดินมาบอกผมเองหลังจบกิจกรรม วิทย์บอกว่า พี่หนุ่มครับ ผมรู้แล้วครับว่า หลังจากนี้ผมจะเป็นอะไร ผมถามว่าเป็นอะไร วิทย์บอก ผมอยากเป็นแพทย์ทหาร ผมถามว่า ทำไมถึงอยากเป็นแพทย์ทหาร เขาบอกว่าเขารวมความฝันของพ่อกับของเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นทั้งแพทย์ด้วย ทั้งทหารด้วย ก็ดีนะ"
"ผมถามว่า แล้วอะไรที่ซ่อนอยู่ตรงนี้ลึกๆ นอกจากความฝัน เขาบอกว่า การได้ช่วยเหลือสังคม เป็นผู้ให้ เขาอยากเติบโตมาแล้วให้กับน้องๆ เขาเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาส แต่เขามีโอกาสมากมาย เขาอยากให้ตัวเองโตขึ้น เพื่อวันหนึ่งจะได้ไปช่วยคนเหล่านี้" สุระเชษฐ์ ประสงค์ผล หรือครูหนุ่ม เจ้าของโรงเรียนกวดวิชา ที่เคยสอนวรวิทย์
หลังเรียนจบ กศน. ก็ถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญด้านการเรียนของวรวิทย์อีกครั้ง แน่นอนว่าครั้งนี้ มิได้อยู่แค่ว่า เขาจะเลือกสอบเข้าคณะไหนในระดับอุดมศึกษา แต่เมื่อเลือกแล้ว เขาจะสอบติดหรือไม่? การทุ่มเทอ่านหนังสืออย่างหนักในช่วงที่เรียน กศน. จะทำให้วรวิทย์เดินทางไปถึงฝันของเขาหรือไม่?
"เลือกพระมงกุฎ อันดับ 1 (ถาม-เพราะอะไร?) เพราะพ่ออยากให้เป็นทหารด้วย ผมก็ตามใจพ่อด้วย ก็เลยเข้าที่นี่ (ถาม-ประกาศผล?) ก็ติดพระมงกุฎ (ถาม-ความรู้สึก?) ดีใจมาก บอกแม่ลูกติดแล้วนะ แม่ก็ดีใจ ร้องไห้ จำได้ความรู้สึกตอนนั้น ภูมิใจและดีใจขนาดไหนที่ทำให้แม่รู้สึกดีขึ้นได้แล้ว"
"ดีใจมาก กอดกัน ดีใจมากลูก ลูกทำสำเร็จอะไรงี้" คุณแม่ของวรวิทย์กับความรู้สึกแรกหลังรู้ลูกสอบติดแพทย์พระมงกุฏฯ
วรวิทย์ไม่ใช่แค่สอบติดแพทย์ แต่ติดวิศวะด้วย
"พี่สาวก็ดีใจ และอยากให้เรียนตั้งแต่วิศวะ เขาบอก ถ้าเอาวิศวะ ถ้าไปรายงานตัวแล้ว แพทย์ประกาศออกมา ถึงได้ ก็จะไม่ได้นะ แต่เขาอยากเป็นแพทย์ เขาอยากเอาแพทย์พระมงกุฏฯ" เบ็ญจมาภรณ์ คงบางปอ พี่สาววรวิทย์ ยืนยันอาชีพในฝันของน้องชาย
ว่าที่คุณหมอวรวิทย์เผยเคล็ดลับความสำเร็จ
"ผมว่ามีหลายปัจจัย สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตัวเอง แรงขับเคลื่อน เพื่อน ครอบครัว คนรอบข้างก็มีผล อุปสรรคก็มีผล การสอบหมอได้ ไม่ใช่คนที่เรียนในระบบ หรือติวอย่างหนัก จะติดทุกคน ที่ติวอาจจะ 20-30% แต่อีก 60-70% คือตัวเอง ว่าจะมีวินัย มีการวางแผนดีขนาดไหน ไม่ใช่แค่การสอบหมอ ผมว่าทุกเรื่องที่เป็นปัญหาชีวิต เราอาจจะมีอุปสรรคอย่างอื่น ฐานะ สภาพแวดล้อม ครอบครัว หรืออะไรก็แล้วแต่ ชีวิตเราจะเดินไปข้างหน้าได้มั้ย จะประสบความสำเร็จได้มั้ย ในระดับไหนก็แล้วแต่ อยู่ที่ตัวเองเป็นหลักใหญ่เลย"
นี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากแรงมุมานะของตนเองจริงๆ ...อีกไม่นานเกินรอ ว่าที่คุณหมอวรวิทย์ ก็จะจบการศึกษา และประกอบอาชีพในฝัน ที่ไม่ใช่แค่เพียงช่วยชีวิตผู้ป่วย แต่ยังรวมถึงการกลับไปพัฒนาสาธารณสุขที่บ้านเกิด และช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือด้อยโอกาสในสังคมด้วย
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 (IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211)