xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : พิโกไฟแนนซ์ ตอบโจทย์แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอนพิโกไฟแนนซ์ ตอบโจทย์แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ? ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561



ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม มีสาเหตุสำคัญจากลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีรายได้ที่แน่นอน ในที่สุดก็ต้องตกเป็นเหยื่อกับผู้มีอิทธิพล เข้าไปสู่วังวนของวงจรหนี้นอกระบบที่มีดอกสูงเกินจริง แล้วยังต้องเสี่ยงกับการถูกทำร้ายหรือข่มขู่คุกคามจากการทวงหนี้ ซึ่งรัฐบาลก็ทราบดีและพยายามเร่งรัดแก้ไขกันอยู่ ด้วยการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้บรรดาลูกหนี้และประชาชนทั่วไป โดยให้กระทรวงการคลังคิดโครงสร้างระบบสินเชื่อรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้

จึงเกิดเป็นธุรกิจ “สินเชื่อรายย่อยผู้ประกอบอาชีพ” หรือนาโนไฟแนนซ์ และธุรกิจ “สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ”หรือ พิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นธุรกิจการปล่อยเงินกู้ที่อยู่ในความควบคุมของรัฐแต่ผู้ปล่อยกู้ไม่ได้เป็นสถาบันการเงิน และปล่อยกู้ให้กับประชาชนหรือผู้ประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่เนื่องจากเงื่อนไขในการปล่อยกู้มีความเสี่ยงสูงคือ สามารถกู้ได้ถึง 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือผู้ค้ำประกัน ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากผู้กู้ได้อีก ทั้งค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าติดตามทวงถามหนี้ หรือเบี้ยปรับก็ตาม อีกทั้งสามารถปล่อยกู้ได้เฉพาะกลุ่มที่ประกอบกิจการเท่านั้น จึงทำให้เกิดปัญหารายได้จากดอกเบี้ยไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงธุรกิจ และที่สำคัญนาโนไฟแนนซ์ยังมีอัตราหนี้สูญสูงมาก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ของยอดสินเชื่อ และบางบริษัทมีหนี้สูญสูงถึง 70% ของยอดสินเชื่อเลยทีเดียว สรุปก็คือ นาโนไฟแนนซ์แทบไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเท่าใดนัก

เมื่อหันมาดูธุรกิจ “สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ” หรือพิโกไฟแนนซ์ ที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ทั่วไป กลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยอดสินเชื่อและจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะเงื่อนไขการปล่อยกู้กำหนดให้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี โดยผู้กู้จะมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้กู้ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ภายในจังหวัดนั้นๆ ทำให้สามารถติดตามทวงถามหนี้ได้ง่าย ขณะที่เงื่อนไขในการขออนุญาตจัดตั้งบริษัทของพิโกไฟแนนซ์ก็กำหนดทุนจดทะเบียนแค่ 5 ล้านบาทเท่านั้น จึงไม่ยากที่นายทุนกลุ่มนี้จะเข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัทเงินกู้ในระบบ เพื่อจะได้ไม่ต้องหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่จากการไปทำธุรกิจปล่อยกู้นอกระบบ

จากข้อมูลพบว่า ลูกหนี้ของพิโกไฟแนนซ์มี 3 กลุ่มคือ ลูกหนี้ที่มีรายได้รายวัน เช่น พ่อค้าแม่ค้า จักรยานยนต์รับจ้าง ลูกหนี้ที่มีรายได้รายเดือน เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท และ ลูกหนี้ที่มีรายได้จากผลผลิตตามฤดูกาล เช่น เกษตรกร ชาวประมง ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าผู้กู้ต้องมีหลักประกันหรือไม่นั้นจะพิจารณาจากความสามารถในการชำหนี้เป็นหลัก ประเด็นที่น่าสนใจคือ ที่ผ่านมาพบว่าลูกหนี้ของพิโกไฟแนนซ์นั้นมีปัญหาหนี้เสียน้อยมาก

จากภาพรวมเชื่อว่าธุรกิจพิโกไฟแนนซ์มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันเท่าใดนัก ชาวบ้านจึงยังต้องไปพึ่งกู้เงินนอกระบบอยู่ หากรัฐบาลช่วยกันตีปี๊ปให้รู้จักกันมากขึ้นกว่านี้ ก็จะดีไม่น้อย ส่วนการปราบปรามแก๊งปล่อยเงินกู้นอกระบบก็ยังต้องทำต่อไป ซึ่งพบว่าแก๊งเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ แก๊งหมวกกันน็อก กับแก๊งปล่อยกู้แบบขายฝาก โดยแก๊งหมวกกันน็อกจะปล่อยกู้รายวันให้พ่อค้าแม่ค้าด้วยดอกเบี้ยแสนโหด ซึ่งถูกกวาดล้างไปมากแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะหมดไปเสียทีเดียว ส่วนแก๊งปล่อยกู้แบบขายฝาก จะพบมากในภาคอีสาน กลุ่มนี้มีเป้าหมายต้องการยึดที่ดินจากเกษตรกรที่ต้องการเงินทุนไปใช้ในการเพาะปลูก โดยใช้วิธีให้ลูกหนี้ทำสัญญาขายฝากที่ดินแลกกับการกู้เงิน และกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนระยะสั้น ประมาณ 3 เดือน ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ทัน ทำให้ที่ดินถูกยึดเป็นของนายทุนในที่สุด ถือเป็นวิธีที่โหดร้ายทารุณมาก ดังนั้นรัฐบาลจะปล่อยไว้ต่อไปไม่ได้ งานนี้ถึงเวลาถอนรากถอนโคนกันแล้ว ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น