xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : 4 ปัจจัย เชื้อไฟสู่ความรุนแรง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน 4 ปัจจัย เชื้อไฟสู่ความรุนแรง!! ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561



ปัจจัยที่จะนำพารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงนั้นพบว่า มี 4 ประเด็นหลัก ๆ ด้วยกันคือ ปัญหาการคอร์รัปชัน การแทรกแซงองค์กรอิสระ การใช้อำนาจโดยมิชอบ และการสืบทอดอำนาจ

เรื่องปัญหาคอรัปชั่น จากคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลคสช.ขายฝันให้คนไทยได้เคลิ้มว่าจะเข้ามากวาดล้างให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลชุดนี้กลับมีข้อครหาเรื่องการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่าง ๆ เสียเอง และกรณีไม่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ไปตอกย้ำเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ทำให้ประชาชนหมดศรัทธาและลุกขึ้นมาท้วงติง แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย แม้แต่การออกมาตอบของ ป.ป.ช. ก็ทำให้คนนินทากันไปว่า เป็นการแก้ต่างให้หรือไม่?

จากกระแสตรวจสอบจึงกลายเป็นกระแสต่อต้านและขับไล่ ทั้งในรูปแบบการชุมนุมและลงมติผ่านโพลของกลุ่มต่างๆ ซึ่งประชาชนขานรับสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตรลาออก ตามที่เคยลั่นวาจาไว้ว่าหากประชาชนไม่อยากให้อยู่ก็พร้อมจะไป แต่เมื่อผลโพลออกมาเช่นนี้ “บิ๊กป้อม” กลับไม่ใส่ใจ แถมโฆษกกระทรวงกลาโหมยังให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า พล.อ.ประวิตรจะเดินหน้าทำงานต่อไป ! ส่งผลให้กระแสความไม่พอใจยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยต่อมาคือ การแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการแทรกแซงและชี้นำการทำงานขององค์กรอิสระต่าง ๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ที่ถือกำเนิดมาจากการแต่งตั้งของ คสช.เห็นได้ชัดว่าการออกกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายล้วนเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของ คสช. โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ล่าสุด สนช.มีมติขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศไว้ครั้งล่าสุดว่าน่าจะอยู่ในช่วง พ.ย. 2561 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าภารกิจนี้มีเป้าหมายเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.นั่นเอง

เรื่องที่ 3 คือการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะการนำกฎหมายพิเศษ ม.44 มาบังคับใช้ในหลายกรณี และล่าสุดที่ก่อให้เกิดแรงต้านอย่างหนักก็คือการนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาใช้เพื่อสกัดกั้นการออกมาเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของการจับกุมและข่มขู่คุกคาม ที่ถูกมองว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายแบบไร้เหตุผล และไม่ฟังเสียงประชาชน

ปัจจัยสุดท้าย ถือว่าสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความรุนแรงก็คือ การสืบทอดอำนาจของ คสช. หากถึงจุดหนึ่งก็จะทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาขับไล่รัฐบาล และมีความเป็นไปได้สูงที่ฝ่าย คสช.จะไม่ยอมถอย จนส่งผลให้เกิดการปะทะ และสถานการณ์อาจบานปลายถึงขั้นเกิด “การนองเลือด” เช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 ก็ได้

ขอตบท้ายด้วยคำเตือนของ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ว่า ขณะนี้ภาคประชาชนอึดอัด ไม่พอใจการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาล คสช. โดยกลุ่มองค์กรต่าง ๆ มีการออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมผู้ชุมนุม ขณะที่ในโลกโซเชียลก็แสดงความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจของรัฐบาล ที่มองว่าประชาชนเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ถือเป็นแนวคิดที่อันตรายมาก หากจะเกิดสถานการณ์รุนแรงก็ไม่ได้เกิดจากประชาชน แต่เกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปควบคุมฝูงชน จากนี้ให้ระวังกลุ่มที่ไม่ถูกกัน ทั้งเหลืองทั้งแดงและสีอื่น ๆ จะจับมือกันเพื่อล้มล้างการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาล แนวร่วมทุกกลุ่มจะไหลมารวมกันเพราะต่างอึดอัดในเรื่องเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้นจริง ถือว่า “น่ากลัวมาก”

ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น