xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : เจาะหลักสูตรสร้างคอนเนกชั่นมากกว่าหาความรู้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน เจาะหลักสูตรสร้างคอนเนกชั่นมากกว่าหาความรู้? ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2560



ปัจจุบันมีหน่วยงานหรือสถาบันที่จัดทำหลักสูตรต่าง ๆ ให้ผู้บริหารระดับสูงได้เข้าไปเรียน ซึ่งต้องย้ำว่ามี”บางส่วน”ที่หวังผลในการเข้าไปเรียนเพื่อสร้างคอนเนกชั่นหรือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในสาขาอาชีพต่าง ๆ มากกว่าที่จะเข้าไปเพื่อแสวงหาความรู้ โดยมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 8 สถาบัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ หน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาการค้าการลงทุนสำหรับผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรทางธุรกิจสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ แต่รายงานชิ้นนี้จะขอพูดถึงและยกตัวอย่างเฉพาะสถาบันหลักๆที่เป็นรู้จักกันดีเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น

อันดับแรกคือวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นสถาบันการศึกษาและการวิจัยระดับสูง ในสังกัดกระทรวงกลาโหม มีหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. ที่ได้รับความนิยมจากทุกสาขาอาชีพ ทั้งทหาร ตำรวจ นักการเมืองและนักธุรกิจ ผู้ที่จะเข้าเรียนได้ส่วนใหญ่ต้องมีเส้นสาย มีคนฝากเข้ามา วปอ.จะเน้นการทำกิจกรรมและลงพื้นที่ มีการนัดพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันทุกสัปดาห์ ผู้เรียนจึงมีความสนิทสนมกัน และเกิดความสัมพันธ์หรือ “คอนเนกชั่น”ที่เหนียวแน่น ต่างจากสถาบันพระปกเกล้าที่เน้นด้านวิชาการมากกว่ากิจกรรม

ส่วนสถาบันพระปกเกล้า มีหลักในการให้ความรู้ ศึกษาวิจัยให้ข้อเสนอแนะด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับถูกมองว่าเป็นแลนด์มาร์กในการสร้างคอนเนกชั่นของบรรดาผู้บริหารจากหลากหลายสาขาอาชีพเพื่อต่อยอดทางธุรกิจและการเมืองผ่านคลาสเรียนต่างๆ โดยเฉพาะหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง หรือ ปปร. ซึ่งเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง ถือเป็นหลักสูตรยอดนิยมที่ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจต้องการเข้าไปเรียนมากที่สุด

วิทยาลัยการยุติธรรม ในสังกัดศาลยุติธรรม กับหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่ได้รับความนิยมจากข้าราชการ ทั้งจากฝ่ายตุลาการ ตำรวจ ทหาร และข้าราชการพลเรือน รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรของสถาบันต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า เนื้อหาของหลักสูตรไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการจูงใจให้ผู้เรียนสนใจ แต่เรื่องของการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบุคคลสำคัญในวงราชการ ทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจระดับชั้นนำทางสังคมน่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่า

ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า การจัดหลักสูตรของสถาบันต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้างคอนเนกชันนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยราชการมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น แต่ข้อเสียคือจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าความร่วมมือในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้น ควรคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ทั้งความเหมาะสม รูปแบบหลักสูตรมีประโยชน์จริงหรือไม่ บทบาทของหน่วยงานที่จัดหลักสูตรสอดคล้องกับพันธกิจขององค์กรมากน้อยเพียงใด ผู้ที่เข้าเรียนมีความเหมาะสมหรือไม่ ต้องการมาเรียนเพื่อหาความรู้หรือมาหาคอนเนกชัน เนื่องจากที่ผ่านมามักพบบุคคลเดียวกันลงเรียนติดต่อกันหลายหลักสูตร จึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของหน่วยงานที่จะจัดทำหลักสูตร เช่น ศาล เป็นหน่วยงานที่ต้องระมัดระวังเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว โดยปกติผู้พิพากษาจะไม่ค่อยสุงสิงหรือมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก แต่หลักสูตรเหล่านี้มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจ มาร่วมเรียนกับอัยการและผู้พิพากษา อาจทำให้สังคมเคลือบแคลงใจ และไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมได้

เรื่องของการสร้างคอนเนกชั่น ที่เกิดจากการเข้าอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สิ่งสำคัญก็คือต้องป้องกันไม่ให้มีการนำคอนเนกชั่นดังกล่าวไปใช้ในการทุจริตคอร์รัปชันได้ ส่วนจะทำอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่จะคิดต่อไป

ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น