xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : เปิดอภิมหาโปรเจกต์ระบบรางครบวงจร 2.2 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน เปิดอภิมหาโปรเจกต์ระบบรางครบวงจร 2.2 ล้านบาท ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2560



หลายคนคงยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยกำลังเริ่มพัฒนาการเดินทางระบบรางอย่างครบวงจรที่มีมูลค่าถึง 2.2 ล้านล้านบาทในระยะ 10 ปีต่อจากนี้ โดยนายพิชิต อัคราทิตย์” รัฐมนตรีช่วยคมนาคม อธิบายให้ฟังว่า มีอยู่ 3 รูปแบบคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้า

เริ่มกันที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก กรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ และจะตามติดมาด้วยระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย ระยะทาง 350 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 271,000 ล้านบาท ซึ่งหากก่อสร้างเสร็จทั้งโครงการก็จะได้เห็นการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทาง ทั้งตัวสถานีและพื้นที่ใกล้เคียง โดยแต่ละสถานีจะมีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่มากมายมหาศาลทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และหากในอนาคตเมืองพัฒนามากขึ้นก็อาจจะมีศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัยด้วย

ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังตั้งบริษัทลูกชื่อ “บริษัทรถไฟบริหารสินทรัพย์”เข้ามาบริหารทรัพย์สินของการรถไฟซึ่งมีอยู่กว่า 40,000 ไร่ มีรูปแบบเหมือนเอกชน และอาจมีเอกชนเข้ามาร่วมบริหารด้วย ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวสูง สิ่งที่น่าสนใจคือโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะเป็นการเชื่อมประเทศไทยกับจีนตอนใต้เข้าด้วยกันที่เมืองคุนหมิง แล้วยังทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคเดียวกัน และยังจะสามารถเชื่อมต่อไปยังสหภาพยุโรปได้ด้วย ซึ่งรออีกไม่นานเพียง 4 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการพัฒนารถไฟทางคู่อีก มี 8 เส้นทางด้วยกันคือ
1) จิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร
2) นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร
3) ประจวบฯ-ชุมพร ระยะทาง 165 กิโลเมตร
4) มาบกะเบา-โคราช ระยะทาง 132 กิโลเมตร
5) ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร และ
6) หัวหิน-ประจวบฯ ระยะทาง 90 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในปี 2563
และอีก 2 เส้นทางคือ หนองคาย-โคราช-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร และ เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในปี 2564

ข้อดีของระบบรางคู่คือ ไม่ต้องเสียเวลาสับเปลี่ยนรางในช่วงที่รถไฟสวนกัน และเมื่อผนวกกับเส้นทางรถไฟเดิม จะทำให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค นับเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยได้เป็นอย่างดี

และสุดท้ายคือโครงการรถไฟฟ้าใน กทม. และปริมณฑล ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางทั้งลอยฟ้าและบนดินในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นวงกลม จะช่วยให้การเดินทางในเขตเศรษฐกิจสะดวกคล่องตัว และนับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเส้นทางนี้จะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2564

จะเห็นได้ว่า แผนการพัฒนาการคมนาคมระบบรางของไทย ได้ถูกวางไว้เพื่อรองรับแผนตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งอีกไม่นานเกิน 10 ปีนี้ก็จะได้เห็นการพลิกโฉมระบบการคมนาคมครั้งสำคัญ ถือเป็นการเดินหน้าประเทศไทยอย่างแท้จริงด้วยอภิมหาโปรเจกต์ มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท

ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น