xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : ตอบโจทย์ ไทยได้อะไรจากรถไฟความเร็วสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน ตอบโจทย์ ไทยได้อะไรจากรถไฟความเร็วสูง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2560



หลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก (กรุงเทพ-โคราช )ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าจะเปิดใช้ได้ในปี2564 ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11
กรกฎาคม ที่ผ่านมา สังคมก็เริ่มจับตาดูว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ทีมวิศวกรของไทยว่าจะถึงขั้นผลิตรถไฟได้หรือไม่

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้อธิบายไว้ว่า ขั้นตอนต่อไปจะต้องตกลงกันในรายละเอียดของสัญญา 2 ฉบับ คือสัญญาก่อสร้างและโยธา และสัญญาที่เกี่ยวกับการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง และการวางระบบอาณัติสัญญาณ ซึงจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ และจะเริ่มก่อสร้างได้ในภายในสิ้นเดือน ก.ย.2560 นี้ โดยสัญญาแรกการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. จะลงนามร่วมกับผู้รับเหมาซึ่งเป็นคนไทย ส่วนสัญญาฉบับที่ 2 จะลงนามร่วมกับจีน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการในส่วนนี้ โดยสัญญาจะแบ่งเป็น 3 สัญญาย่อย คือ สัญญาการออกแบบ สัญญาการก่อสร้าง และสัญญาอาณัติสัญญาณของรถไฟ ซึ่งประกอบด้วย ตัวรถไฟ ตัวราง ตัวสถานี และระบบอาณัติสัญญาณ
สำหรับประเด็นที่เกรงกันว่าโครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูง จะไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่จะได้ นายพิชิต อธิบายว่า โครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก โครงการระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าของลาว ที่จะวิ่งไปคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนั้นจีนก็กำลังก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากจีนไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเท่ากับในอนาคตจะมีเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากไทยไปถึงยุโรปด้วย แน่นอนว่าธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ การค้า การขนส่ง หรือการท่องเที่ยวของไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ก็จะเติบโตตามไปด้วย

ส่วนเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน ที่ผ่านมาจีนได้เริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทีมวิศวกรไทยได้ไปดูงานและฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับระบบการเดินรถของรถไฟความเร็วสูง จากนั้นในช่วงของการก่อสร้างโดยวิศวกรจีนก็จะมีทีมวิศวกรของไทยเข้าไปดูงานภาคปฏิบัติด้วย ดังนั้นการเลือกให้จีนดำเนินโครงการและไทยศึกษาเทคโนโลยีจากจีนจึงช่วยให้ไทยไม่ต้องไปเสี่ยงลองผิดลองถูก ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และยังช่วยประหยัดต้นทุนด้วย หากมองในอนาคตการเดินทางด้วยระบบรางของไทยจะขยายตัวขึ้นอีกมาก ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟวามเร็วสูง และรถไฟฟ้า ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมีแผนที่จะสร้างและพัฒนาบุคลากรในส่วนนี้ โดยเตรียมจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยวิศวกรรมระบบราง” เพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้มารองรับการเติบโตโดยเฉพาะอีกด้วย

จากนี้ไปหากไม่มีอะไรสะดุด อีก 4 ปี คือปี2564 คนไทยก็จะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรก ก็หวังว่าทุกอย่างจะเดินไปตามแผนและคุ้มค่ากับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการลงทุนโครงการนี้ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนด้วย

ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น