xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตต้องสู้ "เป็ด ปริญญา" สู่หนทางนักเชียร์ระดับชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เป็ด ปริญญา" นักเชียร์ระดับชาติ ที่จะได้เห็นตามขอบสนามกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะสนามฟุตบอล เผยชีวิตที่ต้องสู้เพราะเกิดมาจน ทำทุกอย่างให้ได้เงิน แม้แต่ขายเลือดตัวเองก็ทำ ได้เข้าเฝ้ารับทุนเรียนพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ ๙

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. รายการพระอาทิตย์LIVE ร่วมพูดคุยกับ นักเชียร์ฟุตบอลไทยคนแรกที่แต่งกายใส่ชุดเต็มยศเพื่อไปเชียร์ฟุตบอลถึงขอบสนาม สร้างความสนุกสนานครื้นเครงในการเชียร์ฟุตบอล และตามสนามมวย แต่ประวัติของเขาชีวิตในวัยเด็กไม่ได้สนุกสนานแบบนี้ เขาทำทุกอย่างเพื่อหาเงิน ไม่ว่าจะขายของ เลี้ยงเด็ก ทำกระทง หรือแม้แต่ขายเลือดของตัวเองก็ทำมาแล้ว แต่ชีวิตเขาสามารถเรียนจนจบปริญญาโทได้สำเร็จ รวมถึงความผูกพันกับว่าวไทย ที่จะมีสร้างพิพิธภัณฑ์ว่าวไทยที่มีชื่อว่า "สลาตัน"

นายปริญญา สุขชิต หรือเป็ด กล่าวว่า ชุดที่ผมใส่วันนี้เรียกว่า "ชุดพระไวยแตกทับ" แต่ผมไม่นิยมใส่หมวกทรงที่มีปีกเพราะเป็นระบบของกษัตริย์ ผมขอใช้เป็นหมวกทรงหม้อตาลเพราะมันดูเท่ เวลาวิ่งมันจะได้ไม่ปลิว ซึ่งผมก็ใส่ชุดนี้มานานมากแล้ว สำหรับชีวิตในวัยเด็กความจนของผมต้องเรียกว่าโคตรจน ผมเป็นลูกคนที่ 5 พอแม่คลอดออกมาก็เอาผมไปจ้างคนอื่นเลี้ยง แล้วก็ทิ้งผมไปเลย แต่บังเอิญเจอได้เจอผม ผมถามเขาว่าทำไมถึงทิ้งผม แม่บอกว่าตาเกิดกับยายชิงเขาไม่มีลูก ซึ่งตอนนี้เป็นพ่อแม่บุญธรรมของผมและใช้นามสกุลของเขาแทน ได้อยู่กับพ่อแม่บุญธรรมตั้งแต่เกิด พ่อบุญธรรมของผมเป็นลูกจ้างประจำทำลาดยางมะตอย แต่หลังจากแกปลดลูกจ้างประจำ ก็มาหอบของขาย ผมสงสารมากบางทีโดนเทศบาลเขตจับปรับ 100 บาท

"ผมยังไม่รู้จักพ่อแม่บุญธรรมสักเท่าไร จนกระทั่งผมเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบำรุงวิทยา ก็มาเรียนต่อที่โรงเรียนวัดสังเวช ความสนุกสนานจึงเกิดที่โรงเรียนวัดสังเวชเพราะผมชอบลูกเสือ มันช่วยให้เราช่วยชีวิต ช่วยความลำบากยากแค้น ผมพูดตรงๆ จริงๆ ว่าผมรักลูกเสือมาก รักตั้งแต่เกิด ในช่วงที่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 ช่วงนั้นพ่อบุญธรรมปลดเกษียณก็ทำว่าวขายกัน ผมทำว่าวขายตั้งแต่อายุ 10 ขวบ พ่อจะเก่งเรื่องวาด พอเหลาเสร็จโครงก็จะสวยงามแล้วผมก็จะวาดการ์ตูนเรื่องหนูเล็ก ลุงโกร่งลงไป พ่อก็จะเน้นวาดรูปข้าวหลามตัด ใบโพธิ์ ตามในไพ่เพราะเขียนง่ายและคนในสมัยก่อนชอบวาดกัน ว่าวตัวหนึ่งมีราคาสลึงหนึ่ง และ 50 สตางค์ ซึ่งว่าวสมัยก่อนไม่แพง" ปริญญากล่าว

นายปริญญา สุขชิต กล่าวต่อว่า เหตุที่รักลูกเสือเพราะมันเป็นพันธุกรรมจากแม่แท้ๆ ของผม แม่ชอบทำของกินของใช้ที่ประณีต และตาผมก็ทำว่าวขายเหมือนกันทำขนาดเท่ากับกล่องไม้ขีด แล้วแม่บุญธรรมของผมก็รับเลี้ยงเด็กผมก็ช่วยแม่เลี้ยง ช่วยแม่ร้อยดอกไม้ทำพวงมาลัยเพื่อส่งขาย ทำทุกอย่างที่ได้เงิน มีทำอีกก็คือทำดอกไม้จันทร์ เมื่อก่อนมีรถรางวิ่งรอบเมืองผมก็ไปซื้อจากตลาดแล้วก็มาขายบนรถรางต่อ ทำไมขายทุกอย่างแต่ต้องขายเลือด ขายเลือดไป 8 ครั้ง ได้เงินมาครั้งละ 150 บาท ไว้ไปเรียนหนังสือมีอยู่วันหนึ่งกำลังนั่งขายของอาจารย์จากโรงเรียนวัดสังเวชมาเจอบอกให้คนพาผมไปเรียนต่อ ผมจบมัธยมศึกษาที่ที่โรงเรียนวัดสังเวช ผมไปเรียนที่โรงเรียนการช่างอินทราชัยตรงเซ็นทรัลเวิลด์ ตอนนี้ไม่มีแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นแทน ผมไปเรียนเกี่ยวกับช่างไม้ปลูกสร้าง อยู่ๆ ก็ไปเป็นลูกเสือ ไปอบรมลูกเสือราชประชานุเคราะห์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ไม่ว่าจะเหตุการณ์น้ำท่วม ไฟไหม้ กี่ร้อยครั้งผมก็ช่วยหมดทุกอย่าง แต่ก็สอบตก

"พอไปเรียนที่อุเทนถวาย เขาได้มีการจัดแข่งขันกีฬาระหว่าง 4 โรงเรียน ชีวิตการเป็นนักเชียร์ก็เกิดขึ้นได้เกิดไอเดียว่าจะไม่ให้มีการตีกันในงาน ก็เลยแต่งชุดเป็นทหารเรือ และก็ได้เป็นผู้นำเชียร์ทุกครั้งที่จัดงาน โดยช่วงที่ได้เข้ามาเป็นนักเชียร์ระดับชาติได้ ช่วงนั้นผมเรียนจบที่อุเทนถวาย ได้ไปอบรมลูกเสือทั่วประเทศมีพลเอกหลวงกัมปนาท แสนยากรเป็นประธานมูลนิธิของพระเจ้าอยู่หัว ก็ปรากฎว่าท่านชอบลีลาการแสดงโชว์ของผม ผมไปเต้นออกงานมา 60 กว่างาน ได้เงินมาครั้งละ 500 บาท เอาเงินส่วนนั้นมาเรียนหนังสือ ช่วงปิดเทอมตอนที่เรียนอุเทนถวายก็ไปทำงานอีก ทำเกี่ยวกับแบบสำมะโนประชากรตามชุมชน มันทำเสร็จก่อนกำหนดเลยได้ไปหาพ่อแท้ๆ ที่จังหวัดแพร่"ปริญญากล่าว

นายปริญญา สุขชิต กล่าวต่อว่า ผมกลับมากรุงเทพมหานคร และได้ไปเรียนต่อที่อุเทนถวายเรียนเกี่ยวกับด้านหัตถกรรม จนได้ถวายกระเป๋าหนังให้กับพระราชินีและในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากนั้นท่านก็รับสั่งเรียกให้ไปเข้าวังเพื่อรับทุนเรียน ผมเรียนที่เพาะช่าง จนมีวันหนึ่งได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลกรีนคัพก็ได้ไปเชียร์นักฟุตบอล และได้ใส่ชุดซูเปอร์แมนเป็นครั้งแรก และก็ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนชุดเชียร์จนถึงตอนนี้

ทั้งนี้ นายปริญญา สุขชิต ได้กล่าวทิ้งท้ายสำหรับพิพิธภัณฑ์ว่าวว่า "ผมขอเท้าความว่าเมื่อก่อนผมได้จัดงานว่าวหลายครั้งได้เฝ้าพระเทพฯ และได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งผมก็ได้เข้าเฝ้าพระเทพฯ หลายครั้งและท่านก็โปรดเรื่องว่าวมาก และผมยังได้รับให้เขียนสารานุกรมของในหลวง รัชกาลที่ ๙ เรื่องว่าวใช้เวลาการเขียน 7 ปี ซึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ทำขึ้นจะต่อยอดจากหนังสือเล่มนี้ การสอนทำว่าวให้เด็กๆ กำหนดการเปิดยังไม่ชัดเจน เพราะมีชีวัติประวัติของผมให้ประชาชนได้ซื้อเพื่อนำเงินส่วนนั้นมาสร้างเพิ่ม สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ supermanduck-thaikite.com หรือเบอร์ติดต่อ 083-695-4431"



กำลังโหลดความคิดเห็น