คลิปรายการ “ลึกทันใจ” ตอน ดีเดย์ ม.44 ยาแรงแก้จราจร ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2560
..วันที่ 5 เมษายน 2560 จะถือเป็นวันดีเดย์ที่ตำรวจจะเริ่มปฏิบัติการจับจริงปรับจริงตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก หลังจากที่ปล่อยปละละเลยกันมานาน หลักการสำคัญคือ การกำหนดให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารจะต้องรัดเข็มขัดนิรภัย โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 จะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับรถรุ่นเก่าและรถบางประเภทเท่านั้น ส่วนอีกเรื่องเป็นการชำระค่าปรับตามใบสั่ง ที่กำหนดให้กรมการขนส่งทางบกเข้ามาร่วมมือกับทางตำรวจจราจร มาตรการทั้งหมดจะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง เนื่องจากพบว่า ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วจนถึงขณะนี้มีใบสั่งออกไปถึง68,000ใบ แต่มีผู้มาเสียค่าปรับเพียง 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เมื่อมีการใช้มาตรา 44 ของ คสช.ออกมา ก็เท่ากับเป็นกฎหมาย กรมการขนส่งทางบกต้องปฏิบัติตามที่จะต้องเชื่อมข้อมูลของใบสั่งจากตำรวจจราจร หากผู้ขับขี่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งก็จะออกใบอนุญาตให้ชั่วคราว 30 วัน จนกว่าจะมีการชำระค่าปรับ แต่ถ้ายังไม่ยอมชำระอีกก็จะส่งเรื่องขึ้นสู่ศาล นับว่าเป็นการใช้ยาแรงสำหรับผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจรเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการเปิดช่องให้ผู้ถูกออกใบสั่งสามารถโต้แย้งได้ หากเห็นว่าตัวเองไม่ผิด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่มีการออกใบสั่งผิดพลาดเช่นกัน
และส่วนใหญ่การออกใบสั่งก็จะเขียนค่าปรับมาพร้อมกัน ทั้ง ๆ ที่ภายใต้ตำรวจจราจรสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเป็นเพราะตำรวจจราจรมุ่งแต่ออกใบสั่งทำยอดหรือไม่ เพราะยอดปรับมากส่วนแบ่งก็ได้มากตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว บางจุดมีวินรถแท็กซี่ สามล้อเครื่องตั้งใกล้ ๆ สี่แยก ใกล้ป้อมตำรวจแต่ไม่ถูกจับ หรือรถทัวร์ของบริษัทนำเที่ยวสามารถจอดได้ในที่ห้ามจอด แต่ถ้าเป็นรถทั่วไปจะถูกล็อกล้อและถูกออกใบสั่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่เดียวกัน และพื้นที่เหล่านี้มักไม่มีกล้องตรวจจับผู้กระทำผิด
ส่วนกรณีของการบังคับคาดเข็มขัดนิรภัยนั้น แม้เจตนาจะดูดีเพราะเป็นประโยชน์ด้านความปลอดภัยกับผู้ขับขี่และผู้โดยสารเอง แต่ก็น่าเห็นใจสำหรับรถกระบะประเภทแคปเดี่ยว เพราะกฎหมายอนุญาตเพียงให้วางของหรือสัมภาระได้เท่านั้น แต่คนไทยส่วนใหญ่มักเสริมเบาะเข้าไปเพื่อเพิ่มที่นั่งอีก 3 ที่ แม้ทางขนส่งทางบกจะให้คำตอบว่านั่งได้ ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัด แต่ตำรวจจราจรจะทราบเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของมาตรา 44 อีกกลุ่มหนึ่งคือ บรรดารถตู้โดยสาร ที่กำหนดไว้ 13 ที่นั่งไม่รวมคนขับ ต้องปรับปรุงตัวรถ รวมถึงการแก้ไขกลไกให้ผู้โดยสารสามารถเปิดประตูหลังจากด้านในได้เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุขึ้น นอกจากนี้ยังต้องติดตั้ง GPS ให้สามารถรายงานสถานะของรถแต่ละคันมายังศูนย์ GPS ของกรมการขนส่งทางบกแบบเรียลไทม์ หากระบบ GPS ของผู้ให้บริการมีปัญหาขัดข้อง ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน หากละเลยฝ่าฝืนมีความผิดปรับวันละไม่เกิน 5,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขได้แล้วเสร็จ ซึ่งมาตรการนี้ไม่มีใครปฏิเสธ เพราะเป็นผลดีต่อความปลอดภัยของทุกคน แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย ต้องคิดหนักว่าจะเดินหน้าสู้ต่อหรือยกเลิกกิจการไป เพราะกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่รายได้ลดลง
ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรา 44 ในเรื่องการจัดระเบียบการจราจรเท่านั้น แต่หากมองให้ลึกลงไป มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก็ล้วนแต่มีเจตนาเพื่อความปลอดภัยและความมีระเบียบของผู้ขับขี่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดเท่านั้น แต่ก็อยากฝากไว้ถึงฝ่ายเจ้าหน้าที่สักเล็กน้อยว่า การเดินสายกลางจะดีที่สุด เพราะอะไรที่ตึงเกินไปก็จะขาด อะไรที่หย่อนเกินไปก็ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งฝ่ายผู้ขับขี่ด้วย หากเคารพกฏจราจรอย่างเคร่งครัด นอกจากจะเป็นผลดีต่อสังคมโดยรวมแล้ว ก็ไม่ต้องมาปวดหัวกับการเสียค่าปรับด้วย
ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน