คลิปรายการ “ลึกทันใจ” ตอน ซื้อเรือดำน้ำจีน คิดผิดให้คิดใหม่!! ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560
การตัดสินใจจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S 26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เสนอโปรโมชันซื้อ 2 แถม 1 ในราคารวม 36,000 ล้านบาท ของกองทัพเรือไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล คสช. ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ความจำเป็น และความโปร่งใสในการจัดซื้อ ด้วยเกรงว่าจะซ้ำรอยกับกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 200 ที่กลายเป็น”ไม้ล้างป่าช้า” ที่เป็นประเด็นอื้อฉาวเมื่อหลายปีก่อน แม้รัฐบาลจะยกเหตุผลเรื่องความมั่นคงมาสนับสนุนความจำเป็นในการจัดซื้อ โดยระบุว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือเวียดนาม ต่างก็มีเรือดำน้ำกันหมดแล้ว กองทัพเรือไทยจึงควรมีเรือดำน้ำไว้สร้างอำนาจต่อรองบ้าง
แต่ในมุมมองของนายทหารที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการส่งกำลังบำรุงอย่าง พลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ กลับเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง โดยชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่กองทัพใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์คือเรื่อง “ภัยคุกคาม” และความคุ้มค่าในการใช้งาน ไม่ใช่พิจารณาจากอาวุธที่เพื่อนบ้านมีแล้วเราต้องมีบ้าง ถือเป็นตรรกะที่มั่วมาก ในความเป็นจริง ต่อให้ประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำสัก 100 ลำ ก็ทำอะไรไทยไม่ได้ เพราะหลักการของเรือดำน้ำคือการปฏิบัติการใต้ผิวน้ำ แต่อ่าวไทยมันตื้น จะส่งเรือดำน้ำเข้ามาสอดแนมหรือโจมตีไทยจึงทำไม่ได้
หากดูแสนยานุภาพในการรบ จะเห็นได้ว่าไทยมีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งช่วยขยายพื้นที่ลาดตระเวนและยืดระยะในการปฏิบัติการทางทะเล แต่มาเลเซียกับสิงคโปร์ก็ไม่เห็นจะซื้อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ตามไทย คืออำนาจต่อรองระหว่างประเทศไม่ใช่เพียงว่าเรามีอาวุธอะไรเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องประสิทธิภาพและปัญหาในการประเมินราคาเรือดำน้ำที่ผลิตจากประเทศจีน เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่อต้านทางทะเล ต่างจากเรือดำน้ำที่ผลิตจากเยอรมันซึ่งมีชื่อเสียงในด้านนี้ ดูได้จากในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำของเยอรมันที่เรียกว่า”เรืออู” สามารถจมเรือรบของประเทศต่างๆ ได้จำนวนมาก อีกทั้งยังมีเรือดำน้ำหลายขนาดให้เลือก ซึ่งอ่าวไทยมีปัญหาในเรื่องความตื้นของทะเลจึงจำเป็นต้องเลือกเรือดำน้ำที่มีขนาดเล็กเพื่อให้สามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้
ส่วนการตรวจสอบคอร์รัปชันในการจัดซื้ออาวุธเป็นเรื่องยากเพราะไม่มีทางรู้ต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้น ถ้าซื้อจากประเทศที่ผลิตเรือดำน้ำขายอยู่แล้วเราสามารถเปรียบเทียบข้อมูลราคาได้ แต่การซื้อเรือดำน้ำจากจีน ไม่รู้จะตรวจสอบข้อมูลจากที่ไหนทั้งเรื่องราคาและคุณภาพ เพราะไทยเป็นรายแรกที่จะเป็นหนูทดลองใช้เรือดำน้ำของจีน จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้หนัก หากจะถามว่าเมื่อขบวนการต่าง ๆ เดินมาถึงจุดที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนแล้วก็ตาม แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็สามารถยกเลิกโครงการได้ตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ทีมข่าวลึกทันใจ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับหลักการและเหตุผลของอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมที่ออกมาท้วงติงเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนครั้งนี้ จึงขอให้รัฐบาลยอมเปิดใจรับฟังความให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ หากจะทบทวนกันใหม่ตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไป.....
ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน