โดย รุ่งโรจน์ นิลนพคุณ
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาความรู้สึกของนักลงทุนสถาบันที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ไทยอาจจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตลาดค่อนข้างเงียบ มีจำนวนธุรกรรมลดลง การซื้อขายเปลี่ยนมือทำได้ยาก จากข้อมูลการซื้อขายในตลาดรองที่มีการรายงานต่อสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่าความรู้สึกดังกล่าวเป็นความจริง โดยจากรูปที่ 1 โดยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาจากการรายงานของ ThaiBMA มูลค่าการซื้อขายในตลาดรองของตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มอยู่ในช่วงประมาณเดือนละ 1.5 -2.0 ล้านล้านบาท แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน มูลค่าการซื้อขายในตลาดรองปรับลดลงมาซื้อขายในมูลค่าประมาณ 1.0-1.5 ล้านล้านบาทต่อเดือน
รูปที่ 1 มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ไทยในตลาดรองในแต่ละเดือน (ที่มา: www.thaibma.or.th)
โดยปัจจัยที่อาจจะเป็นสาเหตุให้มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ปรับลดลงอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาวให้ผลตอบแทนที่น้อย และอาจจะติดลบทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ชนิดอื่น รวมถึงการเก็บภาษีดอกเบี้ยกับกองทุนรวม ซึ่งมีผลตั้งแต่ 20 ส.ค. 2562 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมซึ่งแต่ก่อนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมีการปรับลดลง และทำให้แข่งขันกับเงินฝากได้น้อยลงจึงทำให้ความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ปรับลดลงไปด้วย
แต่นอกเหนือจากมูลค่าการซื้อขายที่ลดลงแล้ว ในช่วงที่ผ่านมายังมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มีมูลค่ามากขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางภาครัฐและเอกชน เมื่อเอามูลค่าการซื้อขายหารด้วยมูลค่าของตราสารหนี้ที่คงค้างในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มปรับลดลงมาโดยตลอดตามรูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่าปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองเพิ่มขึ้นไม่ทันกับขนาดตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนาน
รูปที่ 2 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายต่อวันต่อมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ไทย (ที่มา: www.thaibma.or.th)
ซึ่งปัญหาสภาพคล่องที่ลดลงนั้น อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวในหลายด้าน เช่น
1. ราคาของตราสารหนี้ไม่สะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็นและมีความผันผวนสูงขึ้นเนื่องจากมีผู้ซื้อผู้ขายน้อยรายอาจทำให้การสร้างราคาของตราสารหนี้ทำได้ง่าย รวมถึงในช่วงที่ตลาดมีความตกใจ (Panic) จำนวนผู้ซื้อขายที่น้อยรายอยู่แล้วยิ่งทำให้ราคาปรับลดลงทำให้เมื่อมีความต้องการที่จะซื้อหรือขายในปริมาณที่มากทำให้ราคามีการเคลื่อนไหวที่มากกว่าที่ควรจะเป็น
2. นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ไทย เนื่องจากสภาพคล่องที่ต่ำนักลงทุนต่างชาติที่มีเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินขนาดใหญ่จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพคล่องของตลาด ทำให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มไม่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยเนื่องจากการซื้อขายทำได้ยาก
3. ปัญหาสภาพคล่องกับกองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องจากเมื่อมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุน ผู้จัดการกองทุนจำเป็นต้องขายตราสารหนี้ เมื่อตลาดมีสภาพคล่องต่ำหากมีการไถ่ถอนจำนวนที่มาก ผู้จัดการกองทุนอาจจะจำเป็นต้องขายตราสารไปที่ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าตลาดมากและทำให้ราคาของตราสารหนี้ปรับลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้อื่นๆ ทำให้ NAV ของกองทุนรวมอื่นปรับลดลงซึ่งอาจจะเป็นการเร่งให้ผู้ถือหน่วยของกองทุนอื่นๆ ทำการไถ่ถอนหน่วยตามมาและก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องต่อระบบกองทุนโดยรวมได้
4. การระดมทุนผ่านตราสารหนี้อาจจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากจำนวนนักลงทุนที่น้อยลงจากการที่นักลงทุนต่างชาติที่มีข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่องไม่สามารถลงทุนได้ ประกอบกับผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพคล่องทำให้สามารถแบ่งเม็ดเงินไปลงทุนในตราสารหนี้เอกชน หรือตราสารหนี้ระยะยาวได้น้อยลงสะท้อนให้เห็นจากส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Spread) ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ให้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า รวมถึงมีสภาพคล่องต่ำกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและมีการปรับลดลงมาไม่มากนักเมื่อเทียบกับในอดีต แม้ว่าวิกฤตจากความกังวลเรื่องของ COVID-19 จะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม ซึ่งสาเหตุจากสภาพคล่องที่ลดต่ำลงของตลาดตราสารหนี้อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Credit Spread ไม่ปรับลดลงมาเท่าช่วงก่อน COVID-19
สำหรับแนวทางที่อาจจะสามารถปรับเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดตราสารหนี้ได้นั้น อาจจะต้องพิจารณาการนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมกลับมา พร้อมทั้งจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น ปรับลดข้อจำกัดต่างๆ ให้น้อยลง จึงอยากจะขอฝากให้รัฐบาลใหม่ช่วยดูแลพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยและหาทางกระตุ้นให้ตลาดตราสารหนี้ไทยมีสภาพคล่องที่สูงขึ้นเพื่อให้ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับเงินออมของประชาชน รวมถึงสร้างตลาดเงินตลาดทุนของไทยให้มีเสถียรภาพ ซึ่งปัจจุบันตลาดตราสารหนี้เอกชนมีขนาด 4.6 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิ.ย. 2566) ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก