xs
xsm
sm
md
lg

Private Assets แบบ Semi-liquid ทางเลือกลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดที่มีสภาพคล่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงปี 2022 ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะเงินเฟ้อสูง รวมถึงการปรับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้สร้างแรงกดดันและความผันผวนต่อตลาดลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายสาธารณะ (Public Assets) ซึ่งหากเป็นสถานการณ์โดยทั่วไป พอร์ตที่มีการลงทุนแบบผสมผสานทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ จะสามารถช่วยลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้ เนื่องจากค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ของผลตอบแทนในอดีตระหว่าง 2 สินทรัพย์นี้มักจะแปรผกผันกัน

อย่างไรก็ดี ปี 2022 นับว่าเป็นปีที่ไม่ได้ดีเท่าไหร่นักของพอร์ตการลงทุนที่เน้นลงทุนใน Public Assets เนื่องจากเป็นปีที่มีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนทั้งในสินทรัพย์หุ้นและตราสารหนี้ แบบ Public Assets ต่างให้ผลตอบแทนติดลบ ในขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง Private Assets กลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจาก Private Assets มีความผันผวนที่ต่ำกว่าการลงทุนใน Public Assets

สำหรับนิยามโดยทั่วไปของ Private Assets คือ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด สามารถแบ่งเป็น Private Equity, Private Credit และ Private Real Assets ซึ่งในแง่ของสินทรัพย์การลงทุนก็จะมีลักษณะที่คล้ายกับการลงทุนใน Public Assets แตกต่างกันที่สินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายสาธารณะ (Public Exchange) และมักเป็นเพียงการเจรจาซื้อขายนอกตลาดผ่านผู้จัดการสินทรัพย์นอกตลาดมืออาชีพ ซึ่งการลงทุนใน Private Assets มีข้อดีที่นอกจากจะช่วยเรื่องของการกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนได้แล้ว นักลงทุนยังสามารถคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้นได้อีกด้วย โดยในอดีตที่ผ่านมา การลงทุนใน Private Equity สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ในระยะยาวและมีความผันผวนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในดัชนีหุ้นโลก (MSCI World) ซึ่งการเสริมพอร์ตการลงทุนด้วย Private Assets จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนนั้นมีผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk Adjusted Return) ที่สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ดี แม้การลงทุนใน Private Assets จะมีความน่าสนใจในเรื่องของผลตอบแทนและเรื่องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน แต่การที่นักลงทุนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงการลงทุนในแบบ Private Assets ได้นั้นยังทำได้ยาก เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Private Assets มักมีเงื่อนไขและข้อจำกัดในการลงทุนที่แตกต่างจากการลงทุนทั่วไป เช่น ระยะเวลาการลงทุน ที่จะมีการกำหนดช่วงเวลาถือครองและไม่สามารถไถ่ถอนเงินลงทุนก่อนเวลาที่กำหนดได้ (Lock-up Period) เป็นระยะเวลานาน ที่บางครั้งอาจยาวนานถึง 10 ปี รวมถึงการกำหนดเงินลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง (Minimum Investment) โดยมีหลายกองทุนที่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบกองทุนปิด (Close-end Fund) ที่เมื่อระดมทุนได้ตามที่ต้องการแล้วก็จะไม่มีการเปิดให้นักลงทุนเข้าลงทุนเพิ่มเติมได้ 

ทั้งนี้ ลักษณะของ Private Assets ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงลักษณะเฉพาะของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดแบบดั้งเดิม (Traditional Private Assets)
ปัจจุบันประเทศไทยมีกองทุนรวม Private Assets แบบ Semi-liquid ที่เข้ามาช่วยลดข้อจำกัดของนักลงทุนรายบุคคลที่ต้องการลงทุนใน Private Assets แล้ว โดยนักลงทุนจะสามารถซื้อและขายหน่วยลงทุนได้เป็นรายเดือน และมีการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กองทุนรวม Private Assets แบบ Semi-liquid นี้ ยังจัดเป็นกองทุนประเภทซับซ้อน ดังนั้น ผู้ลงทุนรายบุคคลที่จะสามารถลงทุนได้จะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ลงทนรายใหญ่พิเศษตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดเท่านั้น

ท้ายสุดนี้ ผมขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยการเน้นย้ำกับนักลงทุนว่า “การลงทุนใน Private Assets เหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว และเป็นการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน มิใช่ลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก (ความเสี่ยงระดับ 8+) อีกทั้งสินทรัพย์การลงทุน รวมถึงกองทุนมีสภาพคล่องต่ำกว่าการลงทุนหรือกองทุนโดยทั่วไป นักลงทุนจึงต้องพิจารณาผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการลงทุนนะครับ”
 
โดย คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
 
กำลังโหลดความคิดเห็น