xs
xsm
sm
md
lg

SCBAM ปันผลกองหุ้น-อสังหาฯ โลก ผู้ถือหน่วยเฮยอดรวมกว่า 268 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เปิดเผยว่า คณะกรรมการการลงทุนของบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว (SCBLT) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBGPROP) คิดเป็นมูลค่าเงินปันผลรวม 268.56 ล้านบาท เป็นเครื่องตอกย้ำผลงานการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุน ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยได้ดี ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของตลาด
 
ทั้งนี้ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว (SCBLT) เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยพื้นฐานดี มีโอกาสเติบโตสูง และมีนโยบายหรือมีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ส่วนที่เหลือจะลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัททั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนตราสารการเงินอื่นตามนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, เงินฝาก และหุ้นกู้เอกชน เป็นต้น ในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งการจ่ายปันผลให้แก่กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว (SCBLT) ดังกล่าว จะแบ่งเป็นจำนวน 5 กองทุน คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 (SCBLT1), กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว พลัส (SCBLT2), กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว (SCBLT3), กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว อินเตอร์ (SCBLT4) และ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว ทาร์เก็ต (SCBLTT) เป็นจำนวน 0.14-0.50 บาทต่อหน่วย โดยแบ่งตามชนิดหน่วยลงทุนของกองทุนที่เป็น ชนิดหุ้นระยะยาว, ชนิดเพื่อการออม ชนิดปี 2020 และชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นมูลค่าการจ่ายปันผลที่ประมาณ 263.18 ล้านบาท สำหรับรอบผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2565-31 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้แจ้งปิดพักสมุดทะเบียนแล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 มกราคม 2566 นี้

สำหรับ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBGPROP) เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก BGF WORLD REAL ESTATE SECURITIES FUND ซึ่งเน้นบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนใน REITs ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก เช่น ที่พักอาศัย สำนักงาน โรงแรม และอาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยลงทุนเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งสำหรับการจ่ายปันผลครั้งนี้เป็นการพิจารณาอนุมัติจ่ายจากผลการดำเนินงานในรอบ 3 เดือน (1 ตุลาคม 2565-31 ธันวาคม 2565) เป็นจำนวน 0.20 บาทต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าการจ่ายปันผลที่ประมาณ 5.42 ล้านบาท นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 14 นับแต่จัดตั้งกองทุน ซึ่งได้แจ้งปิดพักสมุดทะเบียนแล้วเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 มกราคม 2566

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า “นับเป็นความสำเร็จในการบริหารจัดการกองทุนต่อสถานการณ์การลงทุนในปี 2565 จากที่ทั่วโลกต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อและปัจจัยกดดันต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจและการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากประเทศอื่น โดยเฉพาะด้านการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของบริษัทของตลาดทุนไทยในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีทิศทางที่ค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวจากการที่ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศและเปิดรับนักท่องเที่ยว ที่ส่งผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ที่จะมาเอื้อประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โลกก็ยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามเงินเฟ้อโลกที่ยังไม่จบ วิกฤตพลังงานที่ยังยืดเยื้อ และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ ดังนั้น การวางกลยุทธ์บริหารพอร์ตลงทุนจึงจะเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ด้วยมุ่งหวังในการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างสม่ำเสมอได้ในระยะยาว”
 


กำลังโหลดความคิดเห็น