บลจ.วรรณคาด AUM ปีหน้าโต 10% เน้นกองนวัตกรรม และการกระจายการลงทุน ชี้การลงทุนตราสารหนี้เริ่มกลับมาน่าสนใจแต่ต้องเป็นการลงทุนในต่างประเทศ ชูกองไลฟ์เซทเทิลเมนท์ ให้ผลตอบแทนไม่อิงกับภาวะการลงทุน ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับภาวะการลงทุนผันผวนในปัจจุบัน ระบุหุ้นไทยมีโอกาส 1,780 หลังเงินเฟ้อเริ่มอิ่มตัว แนะจับตาเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย และการเมืองตัวแปรหลักการลงทุนปี 2566
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า แผนงานของบริษัทในช่วงที่ผ่านมายังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ โดยบริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ณ เดือนกันยายน ปีนี้ อยู่ที่ 1.51 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจากธุรกิจกองทุนรวมอยู่ประมาณ 50% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 25% และกองทุนส่วนบุคคลประมาณ 25% โดยคาดว่าในปีหน้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจะเติบโตขึ้นประมาณ 10% และบริษัทได้เน้นการบริหารกองทุนให้ลูกค้าแบบ Asset Allocation ให้เหมาะสมตามจังหวะของตลาดและระดับการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งจุดเด่นของ Asset Allocation คือการวางกลยุทธ์ด้วย Alternative Asset Class ซึ่งถือเป็นปีที่บริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อีกทั้งในปีหน้าบริษัทยังคงเดินทางหาผลิตภัณฑ์กองทุนทางเลือกต่อเนื่อง เพื่อปรับสมดุลพอร์ตและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์โควิดมันทำให้อุตสาหกรรมกองทุนระส่ำทั้งในส่วนของการปรับตัวของราคาหุ้น และปัญหาของตราสารหนี้ โดยในไตรมาส 1 ของปี 2020 เป็นปีที่ตราสารหนี้ออกจากระบบเยอะที่สุดประมาณ 3 แสนล้านบาท ในช่วงนั้นมีการล็อกดาวน์แต่กลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของบริษัท เนื่องจากกองทุนต่างๆ ที่บริษัทเปิดให้มีการลงทุนประกอบด้วย ONE-UGG ซึ่งหุ้นที่อยู่ในพอร์ตเป็นหุ้นนวัตกรรมที่เป็นเมกะเทรนด์ทำให้มีอัตราการเติบโตสูงทำให้ผลประกอบการและสินทรัพย์ภายใต้การดูแลของ บลจ.วรรณปรับตัวสูงขึ้นมากในปี 2021
"เอยูเอ็มปีนั้นเราขึ้นไป 2 เท่าอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาจากเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยเฟด และธนาคากลางในหลายประเทศรวมถึงไทย ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสูง หุ้นทั่วโลกยังถูกเทขายมาถึงปัจจุบัน ทำให้กองทุนที่เคยมีผลงานดีปรับตัวลดลงถึง 50% แต่ในระหว่างนี้เราเองก็มีกองนวัตกรรมอย่างไลฟ์เซทเทิลเมนท์ที่ลงทุนในประกันชีวิตตลาดรองของสหรัฐอเมริกา ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 15% ซึ่งปีนี้นับเป็นกองทุนทางเลือกที่ใหญ่สุดในประเทศไทยที่มูลค่ากองประมาณ 2.3 พันล้านบาทจากประมาณ 100 กองของอุตสาหกรรม และมีแค่ 5 กองที่สามารถไอพีโอได้เกิน 1 พันล้านบาทที่อยู่ในภาวะตลาดที่ไม่กล้าลงทุน"
ในปีนี้บริษัทเชื่อว่าการลงทุนในตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่กลับมาน่าสนใจมากขึ้นแต่ต้องไปดูตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนในระดับประมาณ 8% และเมื่อทำการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินแล้วเหลือประมาณ 5% ซึ่งทางโปรดักต์ของบริษัทเตรียมเปิดกองลักษณะนี้ประมาณ 3 กองทุนในปีหน้า นอกจากนี้ยังมีกองทุนนวัตกรรมอย่างไลฟ์เซทเทิลเมนท์ที่จะกลับมาเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนอีกเป็นกองที่ 4 นอกจากนี้ กองทุน ONE-UGG ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นในปีหน้าเนื่องจากตามสถิติแล้วยังไม่เคยเห็นดัชนี NASDAQ ปรับตัวลดลง 2 ปีติดเลย อย่างไรก็ตาม ปีหน้ายังมีปัจจัยลบที่ต้องจับตาทั้งเรื่องเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย และการเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศ
นายพจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังคงรุกการเติบโตในส่วนกองทุนส่วนบุคคล ลูกค้านิติบุคคลและสถาบันองค์กรขนาดใหญ่รวมถึงตัวแทนขาย (Selling Agents) โดยล่าสุดบริษัทชนะการคัดเลือกจากรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ระดับประเทศเพื่อบริหารการลงทุนมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ AUM ของบริษัทเติบโตขึ้นอีกในปีหน้า ซึ่งการได้รับการคัดเลือกครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของทีมงาน fund management และระบบที่ยอดเยี่ยมของบริษัทภายใต้ fiduciary duty และ great governance
อย่างไรก็ดี บริษัทเตรียมเพิ่มฐานลูกค้าออนไลน์ (Online Clients Acquisition) โดยระบบการดำเนินงานต่างๆ จะทำเป็นระดับอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด (electronic class) ซึ่งจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทกับบริษัทพันธมิตรด้านออนไลน์ ทั้งคาดว่าจะสามารถเริ่มได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2566 นอกจากนี้ บริษัทยังได้เริ่มเตรียมตัวสำหรับผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ซึ่งอาจต้องมีการขยายธุรกิจเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และยังคงต้องอยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลส่วนธุรกิจกองทุน ปีหน้าเราได้พัฒนานโยบายการลงทุนในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอขายแก่สมาชิกกองทุนและลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
**เงินเฟ้อเริ่มอิ่มตัวหนุนหุ้นไทยปีหน้า 1,780 **
นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพการลงทุนว่า สำหรับปี 2566 ภาวะการลงทุนในประเทศไทยยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยปัจจัยแรก คือ ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่น่าจะเริ่มอิ่มตัว แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED น่าจะยังมีต่อเนื่องไปถึงต้นไตรมาส 2/66 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 5% +/- และคงอัตราดอกเบี้ยไว้จนถึงปี 2567 ปัจจัยที่สอง เรื่องนโยบายของประเทศจีน ซึ่งมองว่าทางการจีนควรจะเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Zero - Covid และอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนก่อนไตรมาส 2/66 ทั้งนี้ จะถือเป็นผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยและค่าเงินบาท และอีกปัจจัยที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศไทยคือ การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงไตรมาส 2/66 โดยมองว่าจะเป็นผลดีต่อภาพการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงเดือนแรกหลังการเลือกตั้งตลาดหุ้นจะตอบรับในเชิงบวก จากปัจจัยเหล่านี้จะเห็นว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ภาพการลงทุนมีแนวโน้มค่อนข้างดีสำหรับประเทศไทย โดยเรามีเป้าหมาย SET INDEX ที่ 1,780 โดยมีค่า PE อยู่ที่ 16 เท่า ขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศอาจจะมีความกังวลในเรื่องของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นได้แค่เทรดดิ้งเท่านั้น
สำหรับตลาดหุ้น ซึ่งคาดการณ์ผลตอบแทนกันอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกเติบโตไม่มาก ทำให้การลงทุนในหุ้นอาจจะมองให้ยาวขึ้นเป็นระดับ 6-12 เดือน เน้นหุ้นพื้นฐานดีที่เกี่ยวกับการบริโภค ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจอยู่เพราะมีปัจจัยเฉพาะตัวเช่นเลือกตั้ง และการท่องเที่ยว