โดย ชยุต เลาหคุณากร
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ในปี 2565 อาจจะไม่ใช่ปีที่สดใสสำหรับนักลงทุนทั่วโลก จากช่วงต้นปีเศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยฟื้นตัวหลังจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ (Reopening) หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลงและตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง สถาบันทางการเงินและธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มเห็นสัญญาณตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ในทิศทางที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัว ในหลายประเทศและธนาคารกลางต่างก็พากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกันถ้วนหน้า ทำให้ราคาหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเติบโต ปรับตัวลดลง และแรงกดดันต่อตลาดหุ้นเริ่มรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดภาวะสงครามระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซีย ส่งผลให้ราคาพลังงาน และสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นจนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 10 ปี
ตลาดหุ้นจีน ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ได้รับความสนใจของนักลงทุนทั่วโลกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็เผชิญความผันผวนไม่ต่างอะไรจากตลาดหุ้นอื่นๆ แต่ภาพตลาดหุ้นจีนในระยะสั้นนั้นยังคงมีลมต้านอยู่จากปัจจัย 2 ประการด้วยกัน ดังนี้ ประการที่หนึ่ง นโยบาย Zero Covid ถึงแม้การบังคับใช้นโยบาย Zero Covid ในประเทศจีนจะประสบความสำเร็จในการกักกันการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้อย่างดี แต่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนมหาศาลทางเศรษฐกิจในด้านการผลิตและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อต้องล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อย่างเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั่วโลก
ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ จะเห็นได้ว่าดัชนี Caixin Manufacturing PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคการผลิต ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคเอกชนเกี่ยวกับภาวะอุตสาหกรรม 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ (New Orders) สินค้าคงคลัง (Inventory) การจ้างงาน (Employment) ผลผลิต (Factory Output) และระยะเวลาในการส่งสินค้า (Suppliers' Delivery Times) ปรับตัวลดลงเหลือระดับ 46 ต่ำที่สุดในรอบ 26 เดือน และข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน ดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.10 ซึ่งระดับที่ต่ำกว่า 50 บ่งบอกถึงการชะลอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภายหน้า และ (ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2565) ยังไม่มีสัญญาณจากรัฐบาลจีนในการผ่อนปรนนโยบายดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการประกาศล็อกดาวน์ซ้ำหรือล็อกดาวน์ในเมืองเศรษฐกิจอื่นๆ ก็จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
ประการที่สอง ปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ ปีที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับบริษัท Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ประกาศผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องรุนแรงทำให้นักลงทุนทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนและนำไปสู่การเทขายหุ้นกู้บริษัทอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากจนราคาหุ้นกู้ตกลงอย่างมาก ถึงแม้รัฐบาลจีนเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง แต่ดูเหมือนปัญหายังคงไม่หมดไป และล่าสุดสถานการณ์ดูเหมือนจะแย่ลง เมื่อผู้ซื้อบ้านจำนวนมากปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าผ่อนบ้านในหลายโครงการและรวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้บริษัทเร่งสร้างบ้านให้เสร็จ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนอกจากทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยิ่งขาดสภาพคล่องแล้วยังอาจส่งผลต่อหนี้เสีย หรือ NPL ของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกคงต้องติดตามต่อว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาจัดการกับปัญหานี้อย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนน้อยที่สุด
แต่ท่ามกลางมรสุมพายุที่จีนกำลังเผชิญ ก็ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์ในระยะยาวจากการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน(พลังงานลม,พลังงานแสงแดด) ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ในรถไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบาย Carbon Neutrality ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาวที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้ภาคธุรกิจของจีนทั้งหมดลดอัตราการปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เหลือศูนย์ภายในปี 2060 นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้วธุรกิจพลังงานสะอาดยังเป็นธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของบรรดานักลงทุนระยะยาวและนักลงทุนสถาบันอีกด้วย
ในระยะสั้น เศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนยังดูไม่สดใส แต่ถ้ามองภาพระยะยาวรัฐบาลจีนยังมีนโยบายทางการเงินและนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและโครงสร้างระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เช่น ในเดือนสิงหาคมธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ลง 0.05% และประเภท 5 ปี ลง 0.15% หรือล่าสุดรัฐบาลจีนประกาศอัดฉีดเงินมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อเร่งการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขยายโครงสร้างรถไฟความเร็วสูง และการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต