xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย กมลสิฐิ์ ขวัญใจธัญญา
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงในรอบหลายๆ ทศวรรษ โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI; ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดเงินเฟ้อของเศรษฐกิจ) ในสหรัฐอเมริกา ปรับตัวสูงขึ้น 8.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 41 ปี และในประเทศกลุ่มยุโรป ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในกลุ่มยุโรป 19 ประเทศมีการปรับตัวขึ้นสูงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสูงกว่าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตั้งเป้าไว้ถึง 4 เท่า สำหรับประเทศไทยดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนพฤษภาคม 2565 ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นที่สุดในรอบ 13 ปี โดยปรับตัวสูงขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับทั้งปี 2565 นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงทั่วโลก โดย ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2565 Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกสำหรับปีจะอยู่ที่ 6.7% สูงกว่าปี 2564 ที่ 4.7% และปี 2563 ที่ 3.2% ขณะที่ประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.8% สูงกว่าปี 2564 ที่ 1.2% และปี 2563 ที่ -0.8%

สาเหตุหลักของการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสาเหตุสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ราคาของกลุ่มสินค้าพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากประเทศรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในสหรัฐอเมริการาคาสินค้ากลุ่มพลังงานในเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวขึ้น 34% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานในประเทศไทยมีการปรับตัวขึ้นร้อยละ 37% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

โดยช่วงที่ผ่านมา เมื่อมีการพูดถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงเกินปกติแล้วภาคเอกชนก็จะเริ่มมีการคาดหวังว่าธนาคารกลางจะออกมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ด้วยเหตุผลที่ว่าหากธนาคารกลางมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจก็มีการปรับตัวสูงขึ้นทำให้บริษัทเริ่มหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายและชะลอการขยายตัว ผู้ขายสินค้าจะไม่พยายามปรับราคาสินค้าขึ้นมามากเพื่อรักษาฐานรายได้ที่มีอยู่ไว้ นอกเหนือจากนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังช่วยชะลอความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้บริโภคก็มีการปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในเดือนที่ผ่านมามีธนาคารกลางหลายๆ ประเทศได้มีการปรับขึ้นนโยบายดอกเบี้ย และมีการส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทยปัจจุบันจะแตกต่างจากสถานการณ์ปกติ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (Cost-Push Inflation) เช่น ต้นทุนราคาน้ำมันหรือวัตถุดิบที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์เงินเฟ้อปกติที่เกิดจากเศรษฐกิจที่เติบโต ทำให้มีความต้องการสินค้าและราคาเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation)

ซึ่งถ้าหากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อาจจะเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจด้วยต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจบางภาคอาจไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภคได้ ทำให้กำไรของบริษัทต้องลดลงและอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงก็เป็นได้ นอกเหนือจากนั้น การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย เนื่องจากจะเพิ่มภาระการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นปัญหาที่มีอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว โดย ณ สิ้นปี 2564 หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงสุดในรอบ 14 ปี อยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อ GDP ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงมีข้อดีที่เป็นประโยชน์สำหรับเศรษฐกิจไทย เช่น การช่วยสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินทุนตามธรรมชาติจะไหลเข้าประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ตัวอย่างล่าสุดสำหรับประเทศที่ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยและเผชิญค่าเงินที่อ่อนแอลง คือ ประเทศญี่ปุ่น โดยค่าเงินเยนอ่อนตัวสุดในรอบ 24 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงดอกเบี้ยไว้ที่จุดเดิม โดยการที่เงินไทยบาทมีการแข็งค่าขึ้น อาจช่วยลดภาระต้นทุนสินค้ากลุ่มพลังงานได้อีกด้วย เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอาจมีการปรับตัวแข็งขึ้นมาจากปัจจุบันที่ 35 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ (ช่วงปี 2019 = 30 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ)

สำหรับตลาดหุ้น SET ราคาหุ้นหลายบริษัทได้รับผลกระทบเชิงลบจากภาวะเงินเฟ้อ และราคาต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างมาก เช่น หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า มีการปรับตัวลงหลังจากได้รับแรงกดดันจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่มบริษัทอาจจะต้องเจอต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งจะกดดันอัตรากำไรในอนาคตด้วย ในขณะเดียวกันราคาของหุ้นกลุ่มที่สามารถส่งต่อต้นทุนการผลิตไปให้ผู้บริโภคได้อย่างหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลยังคงมีผลตอบแทนเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี นอกเหนือจากนั้นหุ้นที่ได้รับผลประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว เช่น หุ้นกลุ่มส่งออก และหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ก็มีการปรับตัวขึ้นมามากเช่นกัน ซึ่งในอนาคตหากมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง หรือราคาต้นทุนวัตถุดิบยังอยู่ในระดับที่สูง หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าบริษัทอื่นจะเป็นหุ้นที่มีสัดส่วนการกู้ยืมที่ต่ำ หรือหุ้นที่ยังสามารถส่งต่อต้นทุนการผลิตไปให้ผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าราคาตลาดหุ้นปัจจุบันมีการปรับลดลง เพื่อสะท้อนปัจจัยลบจากภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นส่วนหนึ่งแล้ว ในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้าคาดว่าตลาดหุ้นยังมีความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง จากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ เช่น การปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ การออกนโยบาย หรือกฎเกณฑ์ใหม่จากภาครัฐ หรือความไม่แน่นอนจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลต่อกำไรของบริษัทในตลาดทุนได้ นักลงทุนควรติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น