xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ดูเรตติ้งอย่างเดียวไม่พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ทัณฑิกา  นิมิตพงษ์
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

นักลงทุนหลายท่านที่เลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชน คงจะคุ้นชินกับคำเตือนที่ว่า “ลงทุนหุ้นกู้ ต้องดูเรตติ้ง” (“Credit Rating”) เนื่องจากเรตติ้งเป็นข้อมูลที่บ่งบอกระดับความเสี่ยงของผู้ออกตราสาร ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวมักจะสะท้อนออกมาที่ระดับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนคาดหวังที่ควรจะเป็น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อเรตติ้งเป็นพิเศษ โดยอาจลืมสังเกตไปว่ามีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรตติ้ง นั่นคือ ข้อมูลแนวโน้มอันดับเครดิต หรือ “Rating Outlook”

Rating Outlook เป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ในระยะข้างหน้าเรตติ้งของผู้ออกตราสารน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ในรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จะมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจการให้ Rating Outlook แก่ผู้ออกตราสารนั้นๆ โดยจะระบุถึงความคาดหวังของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (“Credit Rating Agency” : “CRA”) ที่มีต่อบริษัทผู้ออกตราสารในแง่มุมต่างๆ เช่น การดำรงสถานะทางการเงิน ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการดำรงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เป็นต้น TRIS Rating หนึ่งใน CRA ของประเทศไทย ได้แบ่ง Rating outlook ซึ่งสะท้อนมุมมองในระยะกลางถึงยาวออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. Positive หมายถึง เรตติ้งมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น (Upgrade) 2. Stable หมายถึง เรตติ้งมีแนวโน้มคงที่ 3. Negative หมายถึง เรตติ้งมีแนวโน้มลดลง (Downgrade) และ 4. Developing เรตติ้งอาจมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง ทั้งในทิศทางที่ดีขึ้น แย่ลง หรือคงที่

จะเกิดอะไรขึ้นหากตราสารที่เราลงทุนนั้น มีเรตติ้งที่เปลี่ยนไปก่อนจะครบกำหนด หรือก่อนที่เราจะขายออกไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปทิศทางที่แย่ลง เช่น ถูก Downgrade การถือครองตราสารดังกล่าวจะทำให้ผลตอบแทนที่เราเคยคาดหวังไม่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการซื้อหุ้นกู้ของ 2 บริษัทที่มีเรตติ้งและ Rating Outlook ต่างกัน

ทั้งนี้ หากใช้ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (“ThaiBMA”) ในส่วนของข้อมูลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล (“Credit Spread”) นั้น

จะเห็นได้ว่า หากผู้ลงทุนพิจารณาเพียงเรตติ้งของผู้ออกตราสาร อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท A และ B อยู่ที่ระดับ 1.86% และ 3.17% ต่อปี ตามลำดับ (คำนวณจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี บวกด้วย Credit Spread ตามระดับเรตติ้ง) แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากในเวลาต่อมา เรตติ้งบริษัท A ถูกปรับลงมาที่ระดับ BBB+ นั่นหมายถึง กรณีที่ผู้ลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นกู้บริษัท A ที่อัตราผลตอบแทน 1.86% ต่อปี credit spread ที่เคยได้รับ 1.03% ต่อปีนั้น ไม่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงใหม่ของบริษัท กรณีผู้ลงทุนต้องการขายหุ้นกู้ดังกล่าวออกไป ผู้ซื้อต่อรายใหม่ย่อมต้องการ Credit Spread ที่สอดคล้องกับตามระดับความเสี่ยงใหม่ กรณีผู้ลงทุนถือหุ้นกู้ต่อไป ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากที่เคยประเมินไว้ ณ วันที่ตัดสินใจลงทุน เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านเรตติ้งที่ลดลง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า Rating Outlook มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรตติ้งของผู้ออกตราสารในขณะนั้น ดังนั้นผู้ลงทุนจึงควรพิจารณา Credit Outlook ประกอบการตัดสินใจลงทุนทุกครั้งนอกเหนือไปจากเรตติ้งของผู้ออกตราสาร เพื่อให้มั่นใจว่าผลตอบแทนที่ได้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตราสารหนี้นั้นมี และเป็นการประเมินแนวโน้มความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากตราสารที่ลงทุนมี Rating Outlook ที่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่คาดไว้ เช่น มีแนวโน้มจะถูก Downgrade หากยังต้องการลงทุนในตราสารดังกล่าว นักลงทุนอาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงระดับส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากระดับเรตติ้งปกติ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น