อลิอันซ์ อยุธยามั่นใจตลาดประกันสุขภาพโตเพิ่มหลังโควิด รับคนไทยห่วงสุขภาพกว่า 67% ตั้งเป้ารุกประกันชีวิตคุ้มครองสุขภาพต่อเนื่อง หวังลูกค้าเกิน 50% ต้องมีสัญญาสุขภาพแนบท้าย ตั้งเป้าปี 64 เบี้ยสุขภาพปีแรกแตะ 2 พันล้าน เน้นแบบประกันคุ้มค่าราคาเหมาะสมตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่าราคา
นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้า บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการทำประกันสุขภาพมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากสองปีที่ผ่านมาคนไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจากการสำรวจของบริษัทในปี 2020 พบว่าคนไทย 68% ดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง เกือบ 60% และกว่า 67% มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าการเป็นผู้นำด้านประกันสุขภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมาสถิติการซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพเสริมมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2017 อยู่ที่ 37% ปี 2018 อยู่ที่ 37% ปี 2019 อยู่ที่ 38% ปี 2020 อยู่ที่ 45% ส่วนปีนี้อัตราส่วนน่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 50% และจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยในส่วนเบี้ยประกันสุขภาพ 10 เดือนแรกของปีนี้บริษัทมีเบี้ยสัญญาสุขภาพปีแรกอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 8% เบี้ยรวมของสัญญาสุขภาพอยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 6% และคาดว่าเบี้ยปีแรกของสัญญาสุขภาพสิ้นปีนี้จะไปแตะที่ 2 พันล้านบาทได้
ขณะที่ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดของประกันสุขภาพเป็นอันดับ 1 สำหรับช่องทางการขายตรง และเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมประกันชีวิตในส่วนของเบี้ยปีแรกและเบี้ยรับรวมอยู่ที่ประมาณ 34.8% และ 30.5% ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มการแข่งขันด้านประกันสุขภาพปีหน้าบริษัทคงไม่เน้นเรื่องของราคา และเชื่อว่าการแข่งขันด้านราคาไม่น่าจะเป็นประโยชน์มากนัก เพราะสิ่งที่ลูกค้าต้องการในการซื้อประกันสุขภาพคือการเคลม ซึ่งเมื่อเจ็บป่วยแล้วได้รับบริการการเคลมที่สะดวกน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากกว่า
“ลูกค้าจะซื้อประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะดูว่าตรงกับความต้องการหรือไม่ เช่น คุ้มครองแบบไหน เป็นผู้ป่วยนอกด้วยหรือไม่ ราคาเหมาะกับสิ่งที่จ่ายไปไหม สุดท้ายเราจะพยามเสนอสิ่งที่ต้องเป็นของดีและราคาเหมาะสม รวมถึงการบริการเคลมสินไหมจะต้องดีด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าของอลิอันซ์จะเคลมง่ายแต่จะรับประกันยาก” นางสาวพัชรากล่าว
นางสาวพัชรากล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเบี้ยประกันสุขภาพคงจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่าใดนักถึงแม้จะมีการเคลมด้านค่ารักษาพยาบาลเข้ามาเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยในส่วนของบริษัทมียอดการเคลมค่ารักษาพยาบาลในส่วนของโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 14,000 เคส คิดเป็นยอดเงิน 890 ถึง 900 ล้านบาท
“บริษัทจะเน้นแบบประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากกว่า ซึ่งถ้าดูจากสุขภาพปลดล็อกที่เป็นการเหมาจ่ายโดยไม่กำหนดลิมิตเป็นรายการถือว่าตอบโจทย์ลูกค้ามาก และทุกครั้งที่เรารู้ความต้องการของลูกค้าแล้วแบบประกันใหม่ก็จะทยอยออกมา แต่จะสังเกตได้ว่าความคุ้มครองจะเพิ่มขึ้นขณะที่เบี้ยต่อความคุ้มครองจะปรับขึ้นในอัตราที่น้อยมากเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าจริงๆ” นางสาวพัชรากล่าว