โดย ทีมจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
เชื่อว่าในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้คงไม่มีนักลงทุนคนไหนที่มองข้ามอุตสาหกรรม Wellness โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงราว 13% ในขณะที่เศรษฐกิจโลกนั้นเติบโตเฉลี่ยเพียง 3-3.5% ต่อปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวต้องชะงักตัวลง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งกระจายไปทั่วโลกและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นธุรกิจภาคบริการ และเน้นให้บริการลูกค้าชาวต่างชาติ ทั้งนี้ มนุษยชาติกำลังก้าวผ่านวิกฤตไวรัส COVID-19 ในอีกไม่ช้า จากการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้ผู้คนสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบใกล้ชิดกันมากขึ้นได้อีกครั้ง และทำให้ธุรกิจภาคบริการกลับมาดำเนินการได้ปกติภายใต้มาตรการแบบ New Normal
โอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ไหน?
ทางทีมจัดการลงทุน บลจ.ทิสโก้ สังเกตเห็นถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างถาวร (New Normal) หลังการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ปลุกให้ผู้คนตื่นตัวและให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่สุขภาพกาย แต่รวมถึงสุขภาพทางใจด้วยเช่นกัน ซึ่งเรามองว่า New Normal นี้กำลังสร้างความต้องการใหม่ๆ (New Demand) ให้กับอุตสาหกรรม Wellness ซึ่งจะเป็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอุตสาหกรรม Wellness อย่างมหาศาลในระยะยาว หรือที่เราเรียกการเติบโตแบบนี้ว่า Secular Growth
ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) จะยังเป็นตัวหลักของอุตสาหกรรม Wellness ในประเทศไทย … แต่ตัวจะใหญ่ยิ่งขึ้น
ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็น Medical Hub ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาอย่างยาวนาน จากคุณภาพของโรงพยาบาลในไทยตามมาตรฐานในระดับสากลและความเชี่ยวชาญของแพทย์ชาวไทยในการรักษา มากไปกว่านั้น สถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายในไทย และความคุ้มค่าของค่าใช้จ่าย ทำให้อุตสาหกรรมภาคผนวกอย่างธุรกิจการแพทย์เชิงสุขภาพ หรือที่เรียกว่า Wellness Tourism ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้มหาศาลให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการแพทย์ของประเทศ และหากย้อนไปในปี 2017 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวต่างชาติมากถึง 5.7 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นรองเพียงแค่ประเทศจีนเท่านั้น พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยสูงถึง 12,000 ล้านบาท โดยทางทีมผู้จัดการกองทุนทิสโก้มองว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะกลับมาเติบโตได้โดดเด่นยิ่งกว่าเดิม เมื่อประเทศไทยสามารถกลับมาเปิดเมืองเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ ประกอบกับพฤติกรรมผู้คนที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และมุมมองด้านสุขภาพที่เปลี่ยนจากเดิมจากการเน้นเพียงการรักษาโรค (Treatment) ไปเป็นเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค (Prevention) ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ และก่อให้เกิดรายได้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ผ่านการเสนอสินค้าและการบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและเฉพาะบุคคลมากขึ้น
New Normal ยังสร้างโอกาสให้ธุรกิจอื่นๆ มากมายในอุตสาหกรรม Wellness
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น การกินการดื่มที่เน้นของที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเริ่มเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มผสมวิตามิน เครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ หรือแม้กระทั่งอาหารที่เน้นไปในเชิง Organic หรือโปรตีนที่ได้จากพืชก็กำลังเป็นที่นิยม ขณะเดียวกัน การซื้อ-ขายสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัลก็ได้ช่วยเพิ่มช่องทางการขายและยอดขายให้แก่ธุรกิจพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เช่น ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ที่ช่วยจัดส่งสินค้า Delivery
การเติบโตของอุตสาหกรรม Wellness ในไทยสะท้อนผ่าน SETWB Index
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเทรนด์การใช้ชีวิตที่เน้นสุขภาพมากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และส่งผลให้เป็นโอกาสการเติบโตในระยะยาว (Secular Growth) ให้กับอุตสาหกรรม Wellness โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีข้อได้เปรียบและศักยภาพในการแข่งขันที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ในด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และความคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป โดยทางนักลงทุนสามารถอ้างอิงการเติบโตของอุตสาหกรรม Wellness ในประเทศไทยได้จากดัชนี SET Well-being Index (SETWB) ที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้น