นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) ธุรกิจประกันชีวิตมีผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 294,896.57 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ จำนวน 83,745.52 ล้านบาท ด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.88 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 211,151.05 ล้านบาท ด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68 และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 81
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย
(1) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก จำนวน 45,851.44 บาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 7.52
(2) เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว จำนวน 37,894.08 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.26
ทั้งนี้ จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้ อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 142,804.21 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 มีสัดส่วนร้อยละ 48.43
อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 124,101.47 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.45 มีสัดส่วนร้อยละ 42.08
อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางนายหน้า จำนวน 13,824.71 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 มีสัดส่วนร้อยละ 4.69 อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ จำนวน 7,133.99 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 มีสัดส่วนร้อยละ 2.42
อันดับ 5 การขายผ่านช่องทางดิจิทัล จำนวน 370.07 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63 มีสัดส่วนร้อยละ 0.13
อันดับ 6 การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ จำนวน 19.64 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 15.55 มีสัดส่วนร้อยละเพียง 0.01 อันดับ 7 การขายผ่านช่องทางอื่นๆ จำนวน 6,642.47 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.20 สัดส่วนร้อยละ 2.25
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงเป็นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 21,598.72 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึงร้อยละ 96.05 ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 46,549 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.54 และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 4,243.93 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.74 แต่มีสัดส่วนการขายอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทอื่น
นายสาระกล่าวอีกว่า แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตไทยในครึ่งหลังของปี 2564 ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงมองว่าธุรกิจจะเติบโตได้ตามที่คาดการณ์การเติบโตไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อต้นปี 2564 ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ระหว่าง 590,000-610,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ -1 ถึง +1 ซึ่งเป็นการคาดการณ์แบบระมัดระวัง (Conservative) เนื่องจากทิศทางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งการคาดการณ์ครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 ซึ่งอยู่ในระดับฟื้นตัวช้า (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น พร้อมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนจึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวมีความซับซ้อนระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ธุรกิจประกันชีวิตมีการพัฒนาความคุ้มครองด้านสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร (ทั้งระบบ online และ off line) เช่น telemedicine, บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน (SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน รวมถึงเพราะเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่สำคัญที่เสริมสร้างวินัยทางการออมของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุ