xs
xsm
sm
md
lg

ตลาด EM ทางเลือกลงทุนระยะยาว กระจายความเสี่ยง-ลุ้นเศรษฐกิจฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ทีมจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด 
ท่ามกลางแรงหนุนจากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ในไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ในไตรมาส 1 โตถึง 18.3% YoY ซึ่งเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 1992 ทําให้รัฐบาลจีนออกมาทยอยผ่อนปรนการผ่อนคลายทั้งนโยบายการเงินและการคลังลง (Policy Normalization) ซึ่งเรามีมุมมองว่าอาจจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ EM ชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจ EM ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่ยังใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดย IMF ได้ปรับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 6% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 5.5% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการฉีดวัคซีนในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

สำหรับด้านการลงทุน เรามีมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้น EM ในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านลบที่ต้องติดตาม ปัจจัยแรก ได้แก่ การที่รัฐบาลจีนทำ Policy Normalization ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (Chinese Manufacturing PMI) ที่ดูหมือนจะชะลอตัวลงและตัวเลขสภาพคล่องทางการเงินในประเทศจีน TSF ที่มีแนวโน้มจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยถ้าตัวเลขเหล่านี้ยังชะลอลงอย่างต่อเนื่องอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาค EM ได้ ปัจจัยต่อมา ได้แก่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศกลุ่ม EM เช่น ตุรกี อินเดีย และบราซิล ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยอดการฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศ EM ที่ยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ Developed Market (DM) เช่น ยุโรป หรือ สหรัฐฯ ดังแผนภาพที่ 1 
แผนภาพที่ 1 : อัตราการรับวัคซีน COVID-19 ต่อประชากร 100 คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก


ที่มา : EPFR, Refinitiv, Credit Suisse Research

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น ซึ่งจะกดดันกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น EM และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ไม่รู้จะสิ้นสุดลงอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สภาวะตลาดในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นการสลับการลงทุนระหว่างกลุ่มมากกว่าการเทขายทั้งตลาด ทำให้ถึงแม้โดยรวมเราจะมีมุมมองเป็นกลาง แต่เรายังมองว่าหุ้นบางกลุ่มยังมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ในระยะข้างหน้า เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในจีนที่ในช่วงที่ผ่านมาโดนผลกระทบจากการสลับการลงทุนจากหุ้นกลุ่ม Growth ไปยังหุ้นกลุ่ม Value รวมถึงกฎเกณฑ์ของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาด ทำให้ราคาของหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวลงมาค่อนข้างแรง โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในจีน (FTSE China Incl A 25% Technology Capped Index) จากต้นปีปรับตัวลงมาประมาณ 2.5% เทียบกับตลาดหุ้นจีนโดยรวม (MSCI China Index) ที่ปรับตัวลงประมาณ 0.5% ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ (Nasdaq 100 Index) ปรับตัวขึ้นถึง 10% ทำให้ Valuation ในเชิงเปรียบเทียบของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในจีนลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังแผนภาพที่ 2


แผนภาพที่ 2 : Valuation ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในจีนเทียบกับตลาดหุ้นโลก

แทรกรูป

ที่มา : Refinitiv, Credit Suisse Research

สุดท้ายนี้ ถึงแม้ตลาดหุ้น EM จะยังไม่มีความน่าสนใจในระยะสั้นถึงกลาง แต่ในระยะยาวเรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้น EM อยู่จากระดับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเทียบกับตลาดหุ้น DM ดังแผนภาพที่ 3 รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในขาขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้น EM ในระยะยาว ทำให้ตลาดหุ้น EM ยังเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุนระยะยาวและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน


แผนภาพที่ 3 : Valuation ของหุ้น EM เทียบกับหุ้น DM

รูปกราฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น