xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสการลงทุนใน Semiconductor นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นวัตกรรมจะสามารถพัฒนาไปได้เร็วและไกลแค่ไหน ได้ มักมาจากชิ้นส่วนเล็ก ๆ มีคุณภาพสูง ที่เรียกว่า “Semiconductor” หรือ “Chip” ที่เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่สนับสนุนให้นวัตกรรมสามารถพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ดังกล่าวนี้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการใช้งานหลายรูปแบบ  

ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของ Chip มีประโยชน์อย่างมหาศาล อย่างเช่นในปี 1983 โทรศัพท์มือถือที่ผลิตเพื่อการพาณิชย์ครั้งแรกเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ โดยในยุคแรกนั้นโทรศัพท์มือถือมีราคา 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 120,000 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว และการใช้งานในขณะนั้นค่อนข้างจำกัดใช้ได้เพียงการสื่อสารผ่านทางเสียง ยังไม่สามารถส่ง SMS หรือใช้งานอื่น ๆ ได้มากนัก ต่างจากปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก กลายเป็น Smart Phone มีขนาดเล็กลง ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้นและที่สำคัญมีราคาถูกลง ซึ่งทำให้เราสามารถจับต้องและเป็นเจ้าของได้ ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจาก Chip ที่มีความสามารถสูงขึ้นแบบเท่าทวีคูณนั่นเอง    

โดยในการประชุม World Economic Forum ได้กล่าวไว้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งในยุคนี้จะเกิดการผสมผสานเทคโนโลยีที่ทำให้การใช้ชีวิตจริงกับโลกดิจิตอลรวมเข้าด้วยกัน จนในบางครั้งแทบจะแยกไม่ออกว่าอันไหนโลกจริงหรืออันไหนโลกเสมือน ซึ่ง Chip นั้นนับว่าเป็นหนึ่งหัวใจในการเปลี่ยนแปลงและได้ถูกนำไปพัฒนาและใช้งานหลายประเภท เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์, ด้านการแพทย์, คอมพิวเตอร์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์อัตโนมัติ, 5G และ Internet of Things อุปกรณ์หรือเครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ รอบตัว เป็นต้น จึงทำให้มีความต้องการใช้ Chip ที่มีคุณภาพเป็นส่วนประกอบในสินค้าและบริการมากขึ้น  เนื่องจาก Chip เป็นสินค้าต้นน้ำที่ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ ๆ การลงทุนในการทำการวิจัยและพัฒนา (The Research and Development) หรือ R&D จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมาก จากบทวิเคราะห์ของ Semiconductor Industry Association ระบุว่าหากมีการลงทุนในการทำ R&D ด้านนี้ ในทุก ๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้ GDP เติบโต 16.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตได้ถึง 16.5 เท่าเลยทีเดียว

การพัฒนาความสามารถของ Chip จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการทำ R&D ที่ต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐ จึงทำให้รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญโดยส่งเสริมและสนับสนุนการทำ R&D ที่เกี่ยวข้องกับ Semiconductor อย่างเช่นในร่างงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีงบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับอุตสาหกรรม Semiconductor ประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยครอบคลุมงบประมาณในการทำ R&D, ให้เงินทุนสำหรับโรงงานการผลิต Chip ขั้นสูง และประโยชน์ทางภาษี เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่ซื้ออุปกรณ์ semiconductor รวมไปถึงการดึงดูด Talented ด้าน Semiconductor Innovation เข้ามาทำงาน โดยได้สัญชาติ หรือ Green card ง่ายขึ้น  

สำหรับความต้องการของ Chip เพื่อการใช้งานเพิ่มขึ้นส่งผลให้ ภาพรวมขนาดตลาด Semiconductor ขยายตัวสูงขึ้น จากผลงานวิจัยของ PWC ปี 2019 ได้รายงานภาพรวมขนาดตลาดในช่วงปี 2016 – 2022 คาดการณ์เติบโตเฉลี่ยปีละ 9% โดยการเติบโตดังกล่าวได้กระจายไปในหลายประเภทการใช้งาน เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น Chip จะเป็นต้นทุนหลักของรถยนต์ในอนาคต ซึ่งคาดว่าในปี 2030 รถยนต์ Connected Car จะมีต้นทุนของ Chip คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% เมื่อเทียบกับต้นทุนรถยนต์ทั้งคัน เนื่องจากรถยนต์ต้องมีระบบอัตโนมัติและใช้ Chips ในการควบคุมหลากหลายฟังก์ชันมากขึ้น  

หากมองการเติบโตด้านรายได้และกำไรของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอ้างอิงจากผลการสำรวจของ KPMG ในต้นปี โดยได้สอบถามไปยังผู้บริหารบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ จำนวน 156 บริษัททั่วโลก พบว่าบริษัทจำนวน 85% คาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในปี 2021 และบริษัทจำนวน 79% คาดว่ากำไรจะขยายตัวได้ในปี 2021 เช่นกัน ซึ่งจากผลการสำรวจได้ระบุเพิ่มเติมว่าการใช้ Chip เพื่อตอบสนองการใช้งานโครงข่าย Wireless, 5G และ Internet of things จะเป็นส่วนผลักดันสำคัญที่ทำให้รายได้และกำไรของบริษัทในกลุ่มนี้เติบโตในอีกปีและสองปีข้างหน้า

จากความน่าสนใจของอุตสาหกรรม Semiconductor ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่มีลักษณะของ Pure Play หรือบริษัทที่มีแหล่งที่มาของรายได้จาก Semiconductor มีในสัดส่วนที่สูง จึงมีความน่าสนใจและสร้างโอกาสการลงทุนได้ในระยะยาว สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ยังไม่มีประสบการณ์การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้และรับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ เนื่องจากอุตสาหกรรม Semiconductor มีลักษณะกระจุกตัวในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ประกอบกับลักษณะของผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี มีความล้าสมัยเร็ว มีการแข่งขันสูง จึงจะเหมาะสมกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์และรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง
__________________________________________________
โดย คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น