xs
xsm
sm
md
lg

แปลกแต่จริง ยิ่งเงินเดือนเยอะ ยิ่งเก็บเงินไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อรพรรณ บัวประชุม CFP®
กองทุนบัวหลวง

“แปลกแต่จริง ยิ่งเงินเดือนเยอะ ยิ่งเก็บเงินไม่ได้” ทำไมถึงเป็นแบบนี้ไปได้นะ

ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมคะ เพราะโดยส่วนใหญ่ใครๆ ก็คิดว่ายิ่งทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆ จะได้มีเงินเก็บเยอะ ชีวิตจะได้สบาย แต่ทำไมเป็นแบบนี้ไปได้

จากประสบการณ์ในการพบเจอผู้คนที่หลากหลาย ทำให้เราสังเกตเห็นว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนที่ควรจะเก็บเงินได้แล้ว เพราะการงานดูมั่นคง และด้วยวัยที่เริ่มมากขึ้น แต่กลับเก็บเงินไม่ได้ เป็นเพราะเหตุผล ดังนี้

1. คิดว่ารายได้เยอะขึ้น สามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น เช่น รายได้เพิ่มขึ้น 1,000 บาท ก็ใช้มากขึ้น 1,000 บาท บางทีลืมคิดไปว่าเราได้ไม่เต็มจำนวน เพราะต้องเสียภาษีอีก แล้วก็ใช้หมดทุกเดือน ทำให้เงินไม่เหลือ ดีไม่ดีอาจจะติดลบด้วยซ้ำไป

2. รายได้เยอะขึ้น แต่ออมน้อยลง เพราะเราไม่ได้เพิ่มเงินออมตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของรายได้ การที่เรามีรายได้มากขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เก็บออมให้มากขึ้นก่อน ถ้ารายได้เพิ่มขึ้น 3% คิดแล้วเพิ่มมาประมาณ 1,000 บาท ก็ต้องเก็บออมให้มากขึ้นจากเดิมที่เคยออมอยู่ 10% ของรายได้ เช่น รายได้เดือนละ 30,000 บาท ออม 10% เท่ากับ 3,000 บาท เมื่อมีรายได้เพิ่มมา 1,000 บาท ก็ต้องออมเพิ่มอีกอย่างน้อย 100 บาท ถ้าจะให้ดี หากเราไม่ต้องใช้จ่ายเรื่องจำเป็นอื่นๆ ออมเพิ่มทั้งจำนวน 1,000 บาทได้ยิ่งดีมาก จะทำให้เราใช้จ่ายเท่าเดิม และหักเงินส่วนที่มีรายได้เพิ่มไปออม หรือลงทุน เราจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน อยากใช้จ่ายเงินอีก

3. ยิ่งรายได้เยอะ รายจ่ายก็ยิ่งเยอะ เพราะเราจะมีน้องๆ ที่ทำงานให้ดูแล ต้องพบปะกับพี่ๆ ฝ่ายงานอื่นๆ แน่นอนเลยว่าความสัมพันธ์จะแน่นแฟ้นมากขึ้น ถ้าเราได้พบปะพูดคุย จิบชา กาแฟ รับประทานข้าวด้วยกัน ถ้าจะให้น้องๆ ช่วยแชร์ ด้วยความเป็นพี่ก็อยากเปย์ให้น้อง ถ้าเปย์บ่อยๆ น้องชอบแน่ แต่เราจะเก็บเงินไม่ได้ ดังนั้น เปย์ได้แต่อย่าบ่อยเกินไป เราอาจกำหนดว่าเดือนละครั้ง หรือถ้ามีน้องคนไหนอยากช่วยแชร์เราก็อย่าได้ปฏิเสธ จัดหากล่องใส่เงินไว้สำหรับการรับประทานข้าวครั้งหน้าร่วมกันก็ทำได้ นอกจากนี้ อย่าลืมว่าเรายังมีภาษีสังคมอีก ไม่ว่าจะเป็น งานแต่ง งานบุญ งานบวช จะใส่ซองน้อยๆ ก็ดูไม่ดี ใส่มากเกินพอดีเราอาจจะเก็บเงินไม่ได้ ดังนั้น ใส่แบบพอดีๆ จะดีกว่า อย่างไรก็ต้องอยู่ดูแลกันไปอีกนาน  

4. รายจ่ายที่ใครๆ ก็คิดไม่ถึง หากเราไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือให้ดี เนื่องด้วยรายได้มากขึ้น เกิดจากประสบการณ์การทำงานของเรา ดังนั้น อายุเราก็เริ่มมากขึ้นด้วย หากช่วงที่ผ่านมาเราไม่ได้ดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้ดี ปล่อยปละละเลยไปแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นโรคในช่วงอายุ 40 ต้นๆ ขึ้นไป หรือ 30 ปลายๆ ก็เริ่มมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ความดัน ไขมัน เบาหวาน อาจถามหาได้ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียไปไม่น้อยก็คือการรักษาสุขภาพที่เริ่มย่ำแย่ของเรา ดังนั้น ทางที่ดี ก่อนที่สุขภาพของเราจะเสียหาย ดูแล ปรับปรุงอุปนิสัยของเรา การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เหมาะสม การรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะก็จะช่วยเราได้

5. สุดท้ายก็คือ รายได้เพิ่มขึ้น แต่ได้จริงได้ไม่ถึง เพราะภาษีที่เราเสียเป็นขั้นบันได ดังนั้น หากรายได้เราสูงมาก ภาษีที่ต้องเสียสูงสุดคือ 35% ในกรณีที่รายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย หลังหักค่าลดหย่อนแล้วยังสูงกว่า 5 ล้านบาทในปีภาษีนั้น เท่ากับว่าแม้มีรายได้เพิ่ม 1,000 บาท ก็จะใช้ได้จริงเพียง 650 บาทเท่านั้น ถ้ารายได้ทั้งปีสุทธิมากกว่า 750,000 แต่ไม่ถึง 1 ล้านบาท ภาษีที่ต้องเสียในอัตราสูงสุดจะอยู่ที่ 20% ดังนั้น รายได้เพิ่ม 1,000 บาท ก็จะสามารถใช้ได้เพียง 800 บาทเท่านั้น

ดังนั้น หากใครเจอจุดที่ทำให้เราเก็บเงินไม่ได้แล้ว รีบปรับเปลี่ยนตัวเองกันเลย เริ่มต้นจากการกันเงินออมให้มากขึ้น และ “จด” แต่ละรายการ ว่าเราใช้จ่ายอะไรบ้างในแต่ละวัน ดูแล้วอาจจะน่าเบื่อ แต่เป็นสิ่งที่ช่วยเราได้จริงๆ ทำให้เราเห็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงว่ามีอะไรบ้าง

หลายคนที่จดแล้วจะเห็นว่าเงินหมดไปกับเครื่องดื่ม เพราะไม่ใช่แค่วันละ 1 แต่เยอะไปถึง 2 ถึง 3 ค่าอาหารนอกบ้านเยอะไปมั้ย ยิ่งช่วงนี้ใช้บริการทั้ง Lineman ทั้ง Grab Food ค่าอาหารลดพิเศษ แต่ค่าส่งอาจจะแพงเป็นพิเศษก็ได้ หรือแม้แต่การชอปปิ้ง ยิ่งในช่วงเทศกาล 5.5 6.6 ค่าสินค้าอาจจะแค่ 1 บาท แต่ค่าส่งโดนไปแล้ว 40-50 บาท ยิ่งซื้อสนุก ซื้อบ่อย ซื้อหลายร้าน ก็จะทำให้เงินรั่วไหลแบบไม่จำเป็นได้

สรุปแล้ว หากมีสติ รู้เท่าทันก่อนการใช้จ่าย จับจ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น จะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น