ศิรารัตน์ อรุณจิตต์
กองทุนบัวหลวง
ความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาททำให้พฤติกรรมการซื้อของของผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยใส่ใจต่อการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ หรือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เข้ามาเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคคำนึงถึงในการยอมจ่ายมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทรนด์รักษ์โลกยังคงอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่องและจะยังคงความสำคัญมากขึ้นต่อไป ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ ต่างบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันถึงการเติบโตของเทรนด์การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น การศึกษาของทีม IBM ผ่านการสำรวจผู้บริโภคกว่า 18,980 คน ใน 28 ประเทศ นำโดยสหรัฐฯ 12% จีน 11% ญี่ปุ่น 8% และมีประเทศไทยอยู่ในผลการสำรวจด้วยที่สัดส่วน 1% พบว่า ทัศนคติของผู้บริโภคได้เป็นตัวขับเคลื่อนการเลือกแบรนด์สินค้าต่างๆ โดยเกือบ 80% ของผู้บริโภคมองว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า โดย 50% ให้ความสำคัญมาก และ 28% ให้ความสำคัญระดับกลาง
ยิ่งกว่านั้น ในกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจว่าให้ความสำคัญมากมีสัดส่วนถึง 77% ที่ระบุว่าเขาเต็มใจที่จะจ่ายส่วนต่างมากขึ้นสำหรับแบรนด์ที่สนับสนุนการนำกลับมาใช้ใหม่ การมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืน และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ช่วงอายุ 16-64 ปี จำนวน 166,645 คน จาก Global Web Index พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่ง (51-67%) ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังพบว่า การมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนเป็นความต้องการสูงสุดของผู้บริโภคในทุกๆ ช่วงอายุหรือเจเนอเรชัน
การให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคดังที่กล่าวมานั้น สอดคล้องกับการขยายตัวของตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก จากข้อมูลของ Grandview research ระบุว่า ในปี 2020 ตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีมูลค่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.1 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 6% ระหว่างปี 2020-2027 ส่งผลให้จะมีมูลค่าตลาดถึง 4.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12.3 ล้านล้านบาทในปี 2027 โดยมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดนี้เติบโต เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ หีบห่อต่างๆ ด้วยการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่อย่างกระดาษหรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้แทนการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว
การตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1972 โดยองค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ประเทศสวีเดน การประชุมระหว่างประเทศเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ดังกล่าวส่งผลให้ชาติต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาโลกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เศรษฐกิจทั่วโลกได้ขยายตัวถึง 4 เท่า จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว มีการขยายตัวของเมืองในหลายๆ พื้นที่ โดยปัจจุบันมีข้อมูลว่า ประชากรอาศัยอยู่ในเมืองถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำมาสู่การผลิตและการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สิ้นเปลืองและเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมารุนแรงเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟู รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วโลกได้เห็นพ้องกันที่จะร่วมแก้ไขปัญหานี้ ทั้งภาครัฐเองที่ออกกฎระเบียบแบบแผนเพื่อวางแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ ภาคเอกชนก็พัฒนา ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมถึงภาคประชาชนผู้บริโภคก็หันมาใส่ใจเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และยังเฟ้นหาแบรนด์ที่มีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าพลังรักษ์โลกจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไป ไม่ใช่กระแสเพียงชั่วครั้งชั่วคราว การเปลี่ยนแปลงของทุกฝ่ายจะเป็นแรงหนุนให้โลกของเรามีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบริษัทต้องมีบทบาทที่ชัดเจนต่อการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่ใส่ใจการมีสังคมที่ดีในระยะยาว