xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสุขภาพนำเทรนด์ปี 64 คาดเศรษฐกิจพ่นพิษทำธุรกิจทรงตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในปี 2563 เติบโตอยู่ในช่วงชะลอตัว หลักๆ มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ โดยผลงานภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตระหว่างมกราคม-ธันวาคม 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 600,206.48 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 1.75 เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรวมต่อจำนวนประชากร (Insurance Density) อยู่ที่ 8,701.16 บาท ในขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยรับรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP (Insurance Penetration Rate) อยู่ที่ร้อยละ 3.82 แบ่งผลงานเบี้ยประกันภัยเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 158,238.69 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 11.34 ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 101,771.12 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 6.41 และเบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว 56,467.57 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 19.04 และแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 441,996.78 ล้านบาท ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.21 ด้วยอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายในธุรกิจประกันชีวิต พบว่าช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) ยังคงเป็นช่องทางการขายที่มีสัดส่วนการขายเทียบรวมทุกช่องทางทั้งหมด โดยช่องทางตัวแทนประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 320,348.61 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 53.37 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 1.42 รองลงมาคือช่องทางการขายประกันภัยผ่านธนาคาร (Bancassurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 231,569.28 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.58 แต่มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 5.83 ในขณะที่ช่องทางอื่นๆ เช่น ช่องทางโทรศัพท์ ช่องทางดิจิทัล และช่องทางไปรษณีย์ มีอัตราส่วนต่อเบี้ยประกันภัยรับรวมเพียงร้อยละ 8.05

สำหรับปี 2564 สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายรอบด้าน เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ภาวะการว่างงาน หนี้สินภาคครัวเรือน สังคมสูงอายุ มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ IFRS 17 พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล การฉ้อฉลในธุรกิจ โครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System) และการจัดทำกรมธรรม์ประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ สมาคมประกันชีวิตไทยจึงคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตประจำปี 2564 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ระหว่าง 590,000-610,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตร้อยละ -1 ถึง +1 และมีอัตราความคงอยู่ประมาณร้อยละ 81-82

ส่วนแนวโน้มด้านผลิตภัณฑ์แบบประกันชีวิตและช่องทางการขายในปี 2564 แต่ละบริษัทประกันชีวิตได้ ทยอยปรับลดการขายผลิตภัณฑ์ประเภทออมทรัพย์ที่มีการันตีผลตอบแทน เนื่องจากสถานการณ์ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และหันมาเน้นการขายผลิตภัณฑ์แบบประกันชีวิตควบการลงทุน Universal Life, Unit Linked, Participating policy ที่เน้นการลงทุนตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับได้ รวมถึงหันมาเน้นการขายผลิตภัณฑ์แบบประกันที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว เช่น แบบประกันตลอดชีพ (Whole Life) แบบประกันบำนาญที่ช่วยวางแผนเรื่องเกษียณ (Annuity) เป็นต้น และหันมาเน้นการขายแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาช่องทางการขายให้มีความหลากหลายตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางการขายทางดิจิทัล (Digital) หรือช่องทางออนไลน์ และพัฒนารูปแบบการให้บริการให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น