xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนยุค New Normal

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดยทีมจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
 
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หัวข้อหนึ่งที่ถูกพูดถึงในแวดวงการลงทุนมากที่สุด คือเรื่องการลงทุนในเมกะเทรนด์ (Megatrends) ที่หมายถึงการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงในสังคมหรือเศรษฐกิจในระดับโครงสร้างของสังคมอันส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นวงกว้าง มีระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงที่ยาวนาน และทำให้เกิดการแทรกแซงหรือแทนที่โครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่เรามองว่ามีโอกาสได้ประโยชน์จากเทรนด์ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) และกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) ซึ่งในปีนี้การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกลุ่มบริษัทที่ไม่ได้เพียงแต่ผลิตหรือให้บริการปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมความสะดวกสบาย แต่อาจเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันภายใต้สภาวะความปกติใหม่ หรือวิถีใหม่ (New Normal)

ตัวอย่างที่ชัดเจนมากตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับวิทยาการแพทย์ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือการเติบโตของ Telehealth Industry หรือการให้บริการด้านสุขภาพผ่านระบบโทรคมนาคม โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ที่สามารถเชื่อมต่อคนไข้และแพทย์โดยไม่ต้องใช้สถานที่ในโรงพยาบาล ซึ่งสามารถแบ่งเบาความหนาแน่นของผู้ใช้บริการโรงพยาบาลในภาวะวิกฤตได้ โดยจากข้อมูลของบริษัท Teladoc Health ผู้ให้บริการ Telehealth ได้เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2020 มีผู้ใช้บริการทั้งหมด (Number of Visits) มากกว่า 2 ล้านครั้ง โดยเพิ่มขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้นยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อในระยะยาว โดยในอนาคต คำถามที่เราต้องถามอาจไม่ใช่การถามว่า “กรณีใดบ้างที่เราสามารถปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์?” แต่กลับต้องถามว่า “กรณีใดบ้างที่เราจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล?” นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างมากมายของการเปลี่ยนวิถีชีวิตในระดับที่เรียกว่า New Normal

อีกตัวอย่างที่เราอาจได้สัมผัสมาแล้ว คือการเริ่มต้นของเทรนด์การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home (WFH) แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบางบริษัทมีการอนุญาตให้พนักงานทำงานนอกสถานที่อยู่แล้ว แต่การแพร่ระบาดของไวรัสเป็นปัจจัยเร่งให้หลายๆ บริษัทต้องปรับตัวและวางระบบรองรับการ WFH ไม่ว่าจะเพื่อรับมือการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ หรือเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นด้านสถานที่ทำงานของพนักงานในระยะถัดไป ซึ่งหากมองถึงความจำเป็นจากปัญหาสภาพการจราจรและความแออัดในสังคมเมืองแล้วถือว่าไม่ได้ไกลเกินความจริงไปมากนัก โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากเทรนด์ WFH คือกลุ่ม Cloud Infrastructure ที่ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รองรับการทำงานในด้านเครือข่าย การประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการใช้งานซอฟต์แวร์ต่างๆ โดยไม่ผ่านระบบกายภาพในสำนักงาน ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 รายได้จาก Amazon Web Services ซึ่งเป็นสายงานเกี่ยวกับ Cloud Infrastructure ของบริษัท Amazon มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 33% จากปีก่อนหน้า และนับเป็นสัดส่วนในกำไรจากการดำเนินงานของ Amazon มากกว่า 70%

ตัวอย่างสุดท้ายที่เราจะกล่าวถึง ได้แก่บริษัทผลิตยาบริษัทหนึ่ง ซึ่งปรากฏเป็นหัวข้อข่าวบ่อยครั้งระหว่างการระบาดของไวรัส COVID-19 นั่นก็คือ บริษัท Moderna ที่กำลังวิจัยวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Messenger RNA (mRNA) ที่ใช้หลักการกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสเองได้ โดยไม่ต้องนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกายแบบการรักษาปกติ ซึ่งแม้ว่าจุดสนใจของนักลงทุนจะมุ่งเป้าไปที่ความเป็นไปได้ในการนำ mRNA มาใช้กับ COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เรามองว่าวิทยาการดังกล่าวสามารถนำไปใช้รักษาโรคร้ายแรงอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีแนวทางรักษาที่ให้ผลดีในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่ยังต้องพึ่งพาการรักษาโดยใช้เคมีบำบัดเป็นแนวทางหลัก

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ภาวะ New Normal เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วยังคงมีโอกาสในการลงทุนอีกมากมายที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต เช่น การลงทุนในเทคโนโลยี 5G ที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน (Internet of Things) หรือบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแบบ Portable เป็นต้น

บริษัทที่เรากล่าวถึงมาทั้งหมด ล้วนเป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยนำมาซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากกว่าบริษัทอื่น ดังแสดงในแผนภาพผลตอบแทนนับจากต้นปี 2020 ถึงกลางเดือนมิถุนายน
 
แม้ว่าในเดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสุขภาพชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มการเงิน กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม หรือกลุ่มพลังงาน แต่เรามองว่าเป็นการหมุนเวียนเงินลงทุนเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังให้ผลตอบแทนน้อยกว่าในช่วงที่ผ่านมา และยังมีระดับ Valuation ต่ำ โดยในระยะยาวศักยภาพในการเติบโตของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสุขภาพที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ในตลาด จะทำให้การลงทุนในทั้งสองกลุ่มอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น