โดย ทีมจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นเทคโนโลยีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้การดำเนินชีวิตมีความสะดวกสบาย และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยหนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต และมีคนพูดถึงมากในช่วงนี้ คือ Cloud Computing
Cloud Computing นั้นเป็นการให้บริการ IT แบบ On Demand ที่สามารถเข้าถึงได้ในทุกๆ ที่ และใช้ได้บนอุปกรณ์ที่หลากหลาย โดยหลักแล้วการให้บริการ Cloud Computing จะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. Software as a Service (SaaS) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการบนระบบ Internet ในรูปแบบสมาชิก หรือ Subscription เช่น Dropbox, WebEx และ Microsoft Office 365 เป็นต้น
2. Platform as a Service (PaaS) เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เพื่อพัฒนาและผลิตโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น AWS Elastic Beanstalk, Microsoft Azure และ Google App Engine เป็นต้น
3. Infrastructure as a Service (IaaS) ให้บริการเกี่ยวกับอุปกรณ์เสมือนจริง เช่น คอมพิวเตอร์, ฮาร์ดไดรฟ์ หรืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อื่นๆ เช่น AWS, Microsoft Azure และ Google Compute Engine (GCE) เป็นต้น
นอกเหนือจากบริการทั้งสามอย่างแล้ว ยังมีธุรกิจอีกหลายประเภทที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Cloud Computing เช่น Data Center, ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องกับ Server และเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ในปัจจุบันมีผู้ใช้ Cloud Computing เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในรูปแบบของบริษัทหรือบุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ในแง่ของบุคคลธรรมดานั้นเราอาจจะใช้บริการ Cloud Computing โดยที่เราไม่ได้ตระหนักถึงเลยก็ได้ เช่น E-mail, แอปพลิเคชันแชต, Dropbox, แอปพลิเคชันประชุมงาน และ Mobile Banking เป็นต้น
นอกจากนี้ การใช้งาน Cloud Computing ของบริษัทนั้นจะมีความหลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากกว่า โดยจะครอบคลุมถึงโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่ทำงานพื้นฐานหลายๆ ชนิดที่เราอาจจะมีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เช่น ระบบคอมพิวเตอร์เสมือน, Email, ระบบบัญชี และระบบการจ่ายเงินเดือน เป็นต้น และโปรแกรมที่มีการทำงานที่ซับซ้อนและมีความจำเพาะมากขึ้น เช่น ระบบการสื่อสาร (รวมถึง Push Notification) ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการของแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ระบบการสื่อสารของแอปฯ Grab และ Lyft อีกตัวอย่างสำหรับการใช้งานเฉพาะด้าน คือบริการเกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต โดยการบริการในส่วนนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถประเมินความเสี่ยงและมีการตอบสนองที่ทันท่วงที ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในเหตุการณ์วิกฤต เช่น การบริหารจัดการความเสี่ยงของพนักงานในช่วงที่เกิดโรคระบาด COVID-19
นอกเหนือจากการบริการที่มีความหลากหลายมากแล้ว Cloud Computing ยังมีจุดเด่นในด้านของต้นทุนอีกด้วย จากการที่โมเดลธุรกิจ Cloud Computing ส่วนใหญ่จะเป็น Subscription หรือจ่ายเป็นรายงวด ทำให้บริษัทสามารถประเมินค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนในอุปกรณ์ IT และแอปพลิเคชันในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยให้การบริหารจัดการระบบ IT นั้นทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากงานส่วนใหญ่จะถูกถ่ายโอนไปสู่ผู้ให้บริการ (แผนภาพที่ 1)
แผนภาพที่ 1: เปรียบเทียบต้นทุนการใช้โปรแกรมแบบเดิม เทียบกับ Cloud Computing
ที่มา : Global X ETF
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เรามองว่าการลงทุนในกลุ่ม Technology โดยเฉพาะ Theme Cloud Computing นั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากหุ้นในกลุ่มนี้มีความสามารถเติบโตในระดับสูง โดยคาดว่ารายได้ในกลุ่ม Cloud Computing จะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับมากกว่า 3 แสนล้าน USD ในปี 2022 เทียบกับ 1.5 แสนล้าน USD ในปี 2018 (แผนภาพที่ 2)
แผนภาพที่ 2 : ประมาณการรายได้บริษัทในกลุ่ม Cloud Computing
ที่มา : Gartner, Global X ETF, 2019.
ทั้งนี้ กองทุนที่ลงทุนใน Sector Fund และ Thematic Theme นั้นจัดเป็นกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรม และเป็นกองทุนที่มีการลงทุนที่มีการกระจุกตัวสูง และมีความผันผวนมากกว่ากองทุนทั่วไป โดยจัดเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้น ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน