เศรณี นาคธน
กองทุนบัวหลวง
“Agile” คือ แนวคิดในการทำงานที่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ สภาพแวดล้อม รวมถึงความต้องการของลูกค้า ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัทเทคโนโลยีที่ตระหนักได้ว่าระบบการทำงานแบบเดิมไม่สามารถก้าวทันต่อความต้องการของลูกค้าได้ ดังนั้น แทนที่ระบบการทำงานจะเป็นลำดับขั้นที่เริ่มต้นด้วยการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงไปดำเนินการปฏิบัติงานจนออกมาเป็นผลลัพธ์ และหากผลงานหรือผลลัพธ์ที่ได้ไม่ตอบโจทย์ตามความต้องการหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปผู้ปฏิบัติงานจึงกลับไปแก้ไขอีกรอบจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจของทุกฝ่าย แต่ระบบการ Agile จะเน้นการทำงานร่วมกัน มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง มีความยืดหยุ่นในแผนการปฏิบัติงาน ทำให้ผลงานที่ออกมาสามารถตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายและทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเพื่อให้ทราบถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงานได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ แนวคิด Agile ในอาเซียนยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยธุรกิจที่นำมาปรับใช้ส่วนใหญ่จะได้แก่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและโดยเฉพาะธุรกิจ Start Up ด้วยเหตุผลด้านวัฒนธรรม ระบบการศึกษา กรอบความคิด (Mindset) และมุมมอง โดยธุรกิจส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมถึงอาเซียน จะให้ความสำคัญต่อลำดับขั้นตอนการทำงาน ลำดับความอาวุโส ลำดับตำแหน่งงาน หลายองค์กรที่อำนาจการตัดสินใจถูกกระจุกอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาทำให้ไม่เกิดความยืดหยุ่นเท่าที่ควร รวมไปถึงลักษณะนิสัยของชาวอาเซียนที่มักหลีกเลี่ยงความขัดแย้งจนกระทั่งไม่เกิดการแสดงความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องที่ดีที่ในปัจจุบันธุรกิจขนาดใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรมของอาเซียนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ Agile มากขึ้น และพยายามที่จะนำมาปรับใช้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่และเก่าแก่นั้นการปฏิวัติองค์กรจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งหลายองค์กรเริ่มด้วยการเสริมทักษะและพยายามปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของพนักงานในองค์กร ทั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคตเราจะได้เห็นการใช้ Agile ในอาเซียนอย่างแพร่หลายมากขึ้น
ตัวอย่างของธุรกิจในอาเซียนที่นำ Agile มาปรับใช้ในการทำงาน ได้แก่ Grab บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเรียกแท็กซี่เท่านั้น จนมาสู่การเรียนรู้จากพฤติกรรมคนขับและพฤติกรรมผู้บริโภค จนได้พัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายทั้งลูกค้า ร้านค้า คนขับ รวมถึงพนักงาน เช่น แบ่งหน่วยงานย่อยเพื่อพัฒนาโครงการ โดยให้เปรียบเสมือนมี Start Up ย่อยอยู่ในบริษัทอีกทีและผู้ปฏิบัติงานมีอิสระในการตัดสินใจ อีกทั้งยังได้ตั้ง Grab Venture เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจที่จะเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของ Grab ได้ รวมไปถึงได้เพิ่มขอบเขตการให้บริการไปยังการส่งพัสดุ การส่งอาหาร เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
อนึ่ง แนวคิด Agile สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงในสถานการณ์วิกฤต COVID-19 นี้ ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตบางธุรกิจต้องประสบปัญหาอย่างหนัก ขณะที่ธุรกิจที่ปรับตัว เปลี่ยนแปลงได้ไว แม้ว่าธุรกิจจะเกิดสะดุดบ้างแต่ยังคงสามารถอยู่รอดและใช้เวลาไม่นานในการกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องปกติอีกครั้ง ปัจจัยหลักคือ ความยืดหยุ่นและความรวดเร็ว โดยสถานการณ์วิกฤต COVID-19 กระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในปัจจุบัน รวมถึงสามารถเติบโตในอนาคต ซึ่งแนวคิด Agile นับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ผู้ประกอบการอาจพิจารณานำมาปรับใช้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเองได้ และในอนาคตข้างหน้าคนที่อยู่รอดอาจไม่ใช่คนที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวได้ไวที่สุดก็เป็นได้