โดย จิราธิป กุลกาญจนาธร
ในภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและความมั่นใจของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั่วโลกในหลายภาคธุรกิจ เช่น การเดินทางที่ลดลงที่กดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันจากทั้งการทำงานที่บ้านและการห้ามการเดินทางข้ามประเทศ ภาคบริการได้สูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ลดลงไป หรือแม้กระทั่งในประเทศเองที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมมากขึ้น และยังกระทบไปถึงห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกที่หยุดชะงักลงในบางส่วน ซึ่งกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทและเพิ่มความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้
COVID-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ มากน้อยต่างกัน บางธุรกิจกระทบชั่วคราว หลังจาก COVID-19 คลี่คลายผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการเหมือนเดิม แต่บางธุรกิจก็อาจต้องปรับรูปแบบการให้บริการที่อาจจะมีต้นทุนสูงขึ้นจนกระทบต่อความสารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดในระยะยาวได้
ในฐานะนักลงทุนเองเมื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการเพื่อชดเชยความเสี่ยงนั้นย่อมเพิ่มขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยงสำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน (Credit Spread) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่มีสาเหตุจากการที่นักลงทุนกังวลว่าผู้ออกตราสารหนี้จะมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของตราสารหนี้ลดลง สะท้อนใน Credit Spread หรือส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นจึงเริ่มขายตราสารหนี้เพื่อเพิ่มเงินสดในมือ ทำให้ความต้องการขายตราสารหนี้มีมากกว่าความต้องการลงทุนและเป็นเหตุให้ตลาดรองของตราสารหนี้มีสภาพคล่องที่ลดลง ยิ่งส่งผลให้นักลงทุนต้องการ Liquidity Premium จากการถือตราสารหนี้เอกชนมากขึ้น ราคาก็ยิ่งตกลง Credit Spread ของตราสารหนี้ยิ่งปรับตัวสูงขึ้นไปอีก กรณีนี้จาก Liquidity Premium ที่นักลงทุนต้องการสูงขึ้นในการถือตราสารหนี้เอกชน อาจกล่าวได้ว่าผลกระทบของ COVID-19 ต่อตราสารหนี้ทำให้ Credit Spread เพิ่มขึ้น โดยการที่ Credit Spread ปรับเพิ่มขึ้นมาจากทั้ง Credit Risk และ Liquidity Premium นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วในการตอบสนองของธนาคารกลางและรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์อย่างไม่จำกัด รวมไปถึงการเข้าซื้อกองทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน ทำให้ตลาดรองของตราสารหนี้ในต่างประเทศมีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว มาตรการดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงทั้งด้านสภาพคล่อง (Liquidity Premium) และความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้คืน (Credit Risk) ของผู้ออกตราสารหนี้บางส่วน สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยเองก็ยังคงถูกกดดันด้วยสภาพคล่องที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่า จากความมั่นใจในการลงทุนของนักลงทุนในประเทศที่ยังไม่กลับมา แต่หลังจากการทยอยเปิดเมืองคาดว่าจะทำให้รายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มทยอยกลับมา จะสร้างความมั่นใจและส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ (Liquidity Risk) ลดลง
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โรงแรม และภัตตาคาร เป็นต้น ภายหลัง COVID-19 คลี่คลาย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านั้นจะมีรูปแบบการให้บริการที่เปลี่ยนไป และมักจะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม
สำหรับตราสารหนี้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ นักลงทุนยังควรจะต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงเรื่อง Credit Spread จากความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่ลดลง ดังนั้นจะมีเฉพาะบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ Credit Spread กลับสู่ภาวะปกติ และบางอุตสาหกรรมที่ Credit Spread จะยังคงค้างอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิด COVID-19
หากนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ และคาดว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะค่อยๆ กลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ อัตราผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยง (Credit Spread) ที่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง จึงเป็นโอกาสที่จะทยอยกลับเข้าลงทุนในตราสารหนี้อีกครั้ง ในปัจจุบันพบว่ามีบริษัทเอกชนจำนวนมากเสนอขายตราสารหนี้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งตราสารหนี้เหล่านั้นมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น หากผู้ลงทุนจะเลือกลงทุนในตราสารหนี้รายตัวโดยตรงควรพิจารณาข้อมูลของผู้ออกตราสารหนี้ และอันดับความน่าเชื่อถือ อายุตราสาร เงื่อนไขในการจ่ายดอกเบี้ย ให้ดี รวมถึงพิจารณาเลือกผู้ออกตราสารหนี้ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างน้อย หรือหากไม่สามารถวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าวได้ด้วยตนเอง
การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุนทางหนึ่ง เนื่องจากทุกบริษัทจัดการจะมีทีมนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ ติดตาม ปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที