ทิพยประกันภัยโตสวนโควิด กวาดเบี้ยรับรวมไตรมาสแรกกว่า 6.1 พันล้านบาท ปรับเพิ่ม 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนกำไรสุทธิทรงตัวหลังกำไรการลงทุนปรับตัวลดลง ย้ำกลยุทธ์เจาะลูกค้ารายย่อย เพิ่มช่องทางดิจิทัลรับกระแสผู้บริโภคเปลี่ยน
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ว่า บริษัทฯ มีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสามารถทำเบี้ยประกันภัยรับรวมได้สูงถึง 6,103.45 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนเบี้ยประกันภัยรับรวม 4,882.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1,221.29 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.02%
ทั้งนี้ เบี้ยประกันภัยรับรวม ประกอบด้วย เบี้ยประกันอัคคีภัย 366.41 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 122.50 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 1,327.23 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 4,287.31 ล้านบาท
ส่วนกำไรสุทธิในไตรมาสแรกปี 2563 นั้น บริษัทฯ กำไรสุทธิรวม 527.55 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.88 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิรวม 519.91 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.87 บาท ด้านฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บมจ.ทิพยประกันภัยมีสินทรัพย์รวมที่ 44,530.65 ล้านบาท หนี้สินรวม 37,480.23 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 7,050.42 ล้านบาท
ดร.สมพรกล่าวอีกว่า อัตราการขยายตัวของบริษัทฯ ยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเบี้ยประกันภัยรับรวมขยายตัวกว่า 25% แม้กำไรสุทธิจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลกำไรจากการลงทุนที่ลดลงเหลือ 129.89 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 52.77% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ลดลง
“แม้กำไรสุทธิของบริษัทฯ จะใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เกิดจากกำไรจากการลงทุนที่ลดลง ขณะที่ความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้านประกันภัยกลับโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงถึง 519.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปีก่อนถึง 46.72%” ดร.สมพร กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทฯ ยังคงยึดนโยบายการขยายฐานลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยระยะสั้น และเพิ่มช่องทางการขายให้ครอบคลุมโดยเฉพาะการขายผ่าน Digital เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า หลังสถานการณ์ไวรัส COVID-19 จบลง ซึ่งลูกค้าจะมีพฤติกรรมในการซื้อประกันภัยที่เปลี่ยนไปเป็น New Normal และที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากการพัฒนาและนำเสนอกรมธรรม์ประกันภัยโรคร้ายแรงจากฝุ่น PM 2.5 และกรมธรรม์ประกันภัยความคุ้มครองไวรัสโควิด-19 เป็นต้น