xs
xsm
sm
md
lg

เลือกอย่างไรให้คุ้ม? ประกันโควิด-19 หวั่นยอมติดเอาเงินประกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดูทุกช่องทาง เสพทุกข้อมูล ติดไม่ติดไวรัสโคโรนา (โควิด-19) วิตกกังวลกันไป หลังจากติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

แต่ที่ติดตลาดยอดขายถล่มทลายจากผลพวงการแพร่ระบาดตอนนี้ นอกจากหน้ากากอนามัยกับแอลกอฮอล์ล้างมือแล้ว คงหนีไม่พ้นแบบประกันที่คุ้มครองการติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19

ส่วนคำถามที่พบบ่อยที่สุดคือ ซื้อของใคร และแบบไหนดี?

ถ้าเป็นแบบประกันอื่นคงต้องร่ายยาวกันอีก แต่ถ้าเฉพาะเจาะจงแบบนี้บอกได้เลยว่า 1. เลือกเอาที่คิดว่าจำเป็น และ 2. เลือกที่ตรงความต้องการขอตนเองเป็นที่ตั้งสบายใจสุด

ที่ว่า “จำเป็น” คือถ้าเรามีประกันภันสุขภาพหรือสัญญาเพิ่มเติมจากกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องหาซื้อเพิ่มเพราะได้รับความคุ้มครองครอบคลุมการรักษาพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสอยู่แล้ว (ตามเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์) แต่ถ้าคิดว่าไม่พอ กังวลว่าค่ารักษาจะแพง อยากได้บริการดีๆ ก็สามารถเลือกซื้อกันได้เอาที่สบายใจ

ส่วนคนที่ไม่มีความคุ้มครองอะไรเลย แต่ยังพอมีกำลังก็ควรหาซื้อหลักประกันให้ตนเองและคนในครอบครัวได้แนะนำว่า ซื้อเถอะ ไม่ว่าจะซื้อให้ตนเอง พ่อแม่ บุตรภรรยา ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะความเสี่ยงใกล้ตัวเรามากขึ้น

เมื่อรู้สึกว่าจำเป็นหรือขาดหลักประกันแล้วจะซื้ออย่างไร บริษัทไหนดี? เรามีตารางเปรียบเทียบตัวอย่างบริษัทที่มีแบบประกันนี้ออกจำหน่ายเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ

(แทรกอินโฟตาราง)

เมื่อดูจากตารางแล้ว จะพบว่าเบี้ยประกันมีตั้งแต่ 99 บาท ไปจนถึง 1 พันบาทต้นๆ สำหรับความคุ้มครอง 1 ปี โดยการกำหนดเบี้ยราคาถูกส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงหลักประกันเพี่อความคุ้มครองชีวิตได้

ยกตัวอย่างเช่น คนขับรถแท็กซี่ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดติดเชื้อจากไวรัสแล้วเข้ารับการรักษาจากสถาบันการแพทย์ที่กำหนดทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายก็ไม่จำเป็นต้องทำประกันใช่หรือไม่

คำตอบคือ ...ไม่ใช่

เพราะถ้าเกิดโคม่า เสียชีวิต อย่างน้อยยังเหลือสินไหมชดเชยจากการทำประกันประเภทนี้ตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้ให้พ่อแม่ บุตร ภรรยา จะดีกว่าไหมถ้าคนที่คุณรักสามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไปในช่วงเวลาที่ขาดคุณ

สำหรับคนที่พอมีกำลังซื้ออยู่บ้างแต่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกแบบไหนต้องเข้าใจก่อนว่า แบบประกันคุ้มครองโควิด-19 จะมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ชัดเจน คือ ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยเป็นเงินก้อนเมื่อพบว่ามีการติดเชื้อ

ถ้าเลือกแบบที่เจอจ่ายจบ ก็ต้องมั่นใจว่าคุณพอใจกับเงินชดเชยที่ได้รับ เพราะอย่างไรสามารถใช้สิทธิ์รักษาฟรีตามโรงพยาบาลที่กำหนดอยู่แล้ว

ส่วนถ้าเลือกแบบมีค่ารักษาพยาบาล คงต้องดูที่เหมาะกับสถานพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการรักษาว่าเพียงพอที่จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงหรือไม่หากเกิดการติดเชื้อขึ้น

ทั้ง 2 ทางถือเป็นจุดหลักในการนำไปตัดสินใจเลือกซื้อแบบประกันประเภทนี้ แต่ถ้าอยากได้ทั้งค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยหากมีการติดเชื้อก็สามารถทำได้ แต่คงต้องเลือกทำประกันคนละบริษัท เพราะแบบประกันประเภทนี้มีข้อกำหนดของแต่ละบริษัทในการสงวนสิทธิ์ให้สามารถเลือกซื้อได้ 1 คนต่อ 1 กรมธรรม์เท่านั้น

ส่วนจะเลือกบริษัทไหนนั้นกระซิบให้อุ่นใจได้อย่างหนึ่ง คือ ก่อนที่จะมีการจำหน่ายแบบประกันภัยใดๆ นั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก่อน ซึ่งถือเป็นการคัดกรองความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัทนั้นๆ อยู่แล้ว

เมืองไทยประกันภัยยืนสู้รับประกันโควิด-19
หลายบริษัทมีการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไข แต่เท่าที่ดู ตัวอย่างเช่นบริษัทเมืองไทยประกันภัยที่ยังเปิดขาย 2 แบบประกันอยู่ คือ มีทั้งแบบเจอจ่ายจบ และแบบมีค่ารักษาพยาบาล

นวลพรรณ ล่ำซำ CEO บมจ.เมืองไทยประกันภัย กล่าวว่า ด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เมืองไทยประกันภัย เห็นถึงความสำคัญของการมีหลักประกันของคนไทย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการออกประกันโควิด-19 โดยโจทย์ตั้งต้นคือ “ใจ ถึงใจ” การออกแบบความคุ้มครองด้วยความเข้าใจว่า ลูกค้าต้องการความอุ่นใจ และความคุ้มครองครบถ้วนจบในที่เดียว เพื่อที่ทุกคนจะ “ยิ้มได้ เมื่อภัยมา”

เมืองไทยประกันภัย “ประกันภัย COVID-19” มี 2 แผนให้เลือก ดังนี้ แผน 1 เบี้ยประกันภัย 600 บาท โดยมีหลักประกันความคุ้มครองประกอบด้วย ตรวจเจอ COVID-19 จ่ายจริง 30,000 บาท (โรงพยาบาล) อาการโคม่าวงเงินคุ้มครอง 1,500,000 บาท (เตียง) ชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,000 บาท/วัน (เงินชดเชยสูงสุด 15 วัน วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท)

แผน 2 เบี้ยประกันภัย 1,200 บาท ค่ารักษาพยาบาล 100, 000 บาท อาการโคม่าวงเงินคุ้มครอง 2,000,000 บาท (เตียง) ชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,000 บาท/วัน (เงินชดเชยสูงสุด 15 วัน วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท)

จ่อเลิกขายแบบประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ

เลือกได้แล้วอย่าลืมรีบซื้อกันหน่อย โดยเฉพาะแบบประกันเจอ จ่าย จบ เพราะหลังจากเปิดขายได้ไม่นานกรมธรรม์ประเภทนี้หลายบริษัททยอยยกเลิกจำหน่ายไปแล้ว เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการฉ้อฉลการเอาประกันภัยเกิดขึ้นได้

สำหรับการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ถือว่ามีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว แต่ถ้าเปรียบเทียบความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตถือว่าต่ำมาก เพราะ 80% ของผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรงและสามารถรักษาให้หายได้

สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บอกถึงเรื่องนี้ว่า แบบประกันโควิด-19 เจอ จ่าย จบ มีการออกแบบมาจากโครงสร้างของการประกันภัยโรคร้ายแรง ซึ่งหากมีการตรวจพบ หลังจากเข้ารับการรักษาจะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งผู้เอาประกันจะได้รับเงินก้อนหากตรวจพบว่ามีการเจ็บป่วย ทำให้ไม่เกิดความซับซ้อนมากนัก

อย่างไรก็ตาม การนำโครงสร้างนี้มาใช้กับแบบประกันนี้อาจไม่เหมาะสมเพราะการติดเชื้อไวรัสไม่ใช่โรคร้ายแรงสามารถรักษาให้หายได้ จึงอาจถูกผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดได้ ซึ่งแบบประกันที่มีการชดเชยรายวัน และค่ารักษาพยาบาลถือว่ามีมาตรฐานมากกว่า

“แบบประกันเจอจ่ายจบเป็นการออกแบบมาสำหรับโรคร้ายแรงหากมีการตรวจพบ หลังจากเข้ารับการรักษาจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้มีการออกแบบกรมธรรม์มาเพื่อไม่ให้ซับซ้อน แต่การนำแบบประกันนี้มาใช้กับการติดเชื้อไวรัสนั้นอาจทำให้เกิดการฉ้อฉลประกันภัยขึ้นมาได้ เพราะเป็นลักษณะของโรคที่ไม่ร้ายแรงและมีทางรักษาให้หายขาดได้ อาจมีกลุ่มคนที่ออกมามีแนวความคิดว่าจะลงทุนประมาณ 4-5 พันบาทแต่ได้ความคุ้มครองถึง 1 ล้านบาทแล้วทำให้เกิดการติดเชื้อเพื่อให้ได้รับการชดใช้และเอาประโยชน์จากการทำประกันภัย” สมพรกล่าว

ทั้งนี้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า หากผู้ซื้อทำประกันโควิดมีเจตนา หรือจงใจทำให้เกิดการติดเชื้อจะถือว่าเข้าข่ายการใช้สิทธิ์โดยทุจริต บริษัทประกันอาจอ้างเหตุไม่จ่ายเงินเอาประกันได้

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนตระเวนซื้อกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 แบบเจอ จ่าย จบ เป็นจำนวนหลายกรมธรรม์เกือบทุกบริษัทและประกาศว่าจะยอมเสี่ยงให้ตนเองติดเชื้อเพื่อจะได้เงินค่าสินไหมทดแทนว่า การกระทำในลักษณะนี้ถือว่าไม่ใช่การบริหารความเสี่ยงภัยของตัวเอง แต่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งกลุ่มคนที่มีความคิดและกระทำเช่นนี้ถือว่าอันตรายมากเพราะจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงและจะเป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายของโรคมากขึ้นเพราะไม่กลัวและยอมให้ตัวเองเสี่ยงที่จะติดโรค สิ่งเหล่านี้จะทำให้ระบบประกันภัยและระบบการควบคุมการระบาดของโรคเสียหายไปด้วย จึงขอเตือนกลุ่มคนที่กระทำการในลักษณะนี้ว่า การประกันภัยจะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิ์โดยสุจริตเท่านั้น หากพิสูจน์ได้ว่าใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตทำประกันภัยและจงใจให้ตัวเองติดเชื้อ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและจะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน

ในกรณีเช่นนี้ อยากให้ผู้บริโภคตระหนักว่า “การประกันภัยนั้นเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่เครื่องมือในการเสี่ยงโชค” ใครมีความเสี่ยงเท่าไหร่ก็ซื้อประกันภัยให้เหมาะสม ครอบคลุมกับความเสี่ยงของตัวเอง เรากลัวการซื้อประกันภัยจำนวนมากแล้วไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ อยากให้ซื้อเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงของตัวเองมากกว่า “ผมอยากคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตให้มีหลักประกันในราคาที่ถูกที่สุดเพียง 99 บาท ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการประกันภัยมาช่วยดูแลตัวเองได้ โดยใช้เงินแค่ไม่ถึง 100 บาทก็ซื้อกรมธรรม์ได้แล้ว ผมอยากให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันภัยให้มากขึ้น รู้จักการใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการดูแลตัวเองในยามที่ประสบเคราะห์ร้าย และอยากจะฝากไว้สำหรับผู้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบว่า ประกันภัยเป็นการช่วยบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่การเสี่ยงโชค” นายอานนท์กล่าวทิ้งท้าย

**ยอดขายถล่ม คนไทยแห่ซื้อกว่า 2 ล้านฉบับ**

นายสุทธิพล เลขาธิการ คปภ.กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยใส่ใจกับความคุ้มครองด้านสุขภาพมากขึ้น และมีการเลือกซื้อแบบประกันโควิด-19 เป็นจำนวนแล้วกว่า 2 ล้านฉบับ โดยอยากแนะนำว่ากรมธรรม์ประเภทนี้เหมาะกับคนที่ไม่มีหลักประกันชีวิต ประกันสุขภาพ มากกว่าคนที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วเพราะมีความคุ้มครองครอบคลุมอยู่แล้ว โดยประชาชนควรศึกษาเงื่อนไขของกรมธรรม์ให้ดีว่ามีระยะเวลาการรอคอย 14 วันหรือไม่ หรือการคุ้มครองหากเดินทางจากประเทศเสี่ยง และเป็นแล้วหากไปสมัครก็จะไม่ได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม ทุกเงื่อนไขที่ประกันแต่ละค่ายเสนอกรมธรรม์ต้องผ่านการพิจารณาจาก คปภ. เมื่อผ่านแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ หากทางบริษัทประกันมีการเปลี่ยนเงื่อนไขต้องนำเรื่องเสนอ คปภ.อีกครั้ง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้

สมพร สืบถวิลกุล กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทถือแบบประกันภัยโควิด-19 ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเพราะมียอดขายไปแล้วกว่า 1 ล้านกรมธรรม์ หรือกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% จากยอดขายทั้งหมดของทั้งอุตสาหกรรมประกันภัย โดยแผนประกันที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือแบบประกันที่ 4 มีเบี้ยประกัน 850 บาท โดยมีความคุ้มครอง ชดเชย 1 ล้านบาทกรณีการเจ็บป่วยในภาวะโคม่าจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา และมีค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อปี ซึ่งจะคุ้มครองทันที (ยกเว้นผู้มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง)

ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถซื้อตรงผ่านช่องทางออไลน์ และสาขาแบงก์กรุงศรี กรุงไทย ออมสิน ช่องทางที่ 3 คือนายหน้าที่เป็นเครือข่ายกลุ่มปั๊มน้ำมันพีที เทสโก้ เซเว่น เอไอเอส และทรู เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทพยายามกระจายโอกาสให้คนไทยเข้าถึงความคุ้มครองให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับไปรษณีย์เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการขาย ซึ่งบริษัทออกแบบมาเพื่อเจตนาสร้างความคุ้มครองให้แก่คนไทยเมื่อตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัส

นายอานนท์ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย บอกว่า แนวโน้มการเติบโตของการประกันภัย Covid-19 มองว่ายังสามารถเติบโตต่อไปได้อีก เพราะว่าตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไหร่ ก็ยังคงขายต่อไปได้เรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับภาครัฐได้ออกนโยบายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลโรค Covid-19 ว่าหากมีประกันสุขภาพหรือประกันภัย Covid-19 ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็ควรเคลมประกันภัยก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ ส่วนใครที่มีประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ที่มีความคุ้มครองที่เพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม แต่คนที่ยังไม่มีประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ประกันภัย Covid-19 ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพราะราคาไม่สูงมากและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในสถานการณ์เช่นนี้ได้เป็นอย่างดี

บริษัทประกันเลิกขาย-ปรับเงื่อนไข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีการเปิดขายแบบประกันภัยโควิดมีบางบริษัทที่ยกเลิกจำหน่ายกรมธรรม์ประเภทนี้ไปบ้างแล้ว โดยให้เหตุผลว่ามีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมากทำให้เต็มความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัท

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทกรุงเทพประกันภัย ที่ยกเลิกการจำหน่ายกรมธรรม์โควิดประเภทเจอจ่ายจบผ่านทางพันธมิตรอย่างบริษัททีคิวเอ็มโบรกเกอร์ประกันภัย และล่าสุด ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการออกประกาศผ่านทางเว็บไซด์ของธนาคารว่า

“ขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านเป็นอย่างยิ่งที่ให้ความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 เนื่องจากมีลูกค้าให้การตอบรับผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และมีการสมัครเข้ามาจนครบตามจำนวนกรมธรรม์ที่กำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ธนาคารจึงขอปิดการจัดจำหน่ายประกันโควิด-19 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อทราบและขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้”

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าการหยุดรับประกันภัยเบื้องต้นอาจเกิดการที่มีผู้เอาประกันมีแผนฉ้อฉลเงินเอาประกัน ทำให้ต้องหยุดขายแบบประกันประเภทเจอ จ่าย จบ

นอกจากนี้ ตามปกติบริษัทประกันมักจะมีความสามารถในการรับประกันภัยไม่เท่ากัน โดยดูได้จากเงินกองทุน ซึ่งเงื่อนไขนี้นักคณิตศาสาตร์ประกันภัยจะเป็นผู้คำนวณว่าบริษัทประกันภัยจะมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้เท่าไร และจะต้องทำประกันภัยต่อออกไปเท่าไร ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกันว่าหลังจากมีลูกค้าจำนวนมากให้ความสนใจทำให้เต็มความสามารถในการรับความเสี่ยงจึงหยุดรับประกันภัย

อย่างไรก็ตาม นอกจากความสามารถยังมีความเสี่ยงอื่นที่ต้องประเมิน เพราะถ้าประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 คือการแพร่เชื้อภายในประเทศในวงกว้าง บริษัทประกันอาจมีการปรับเงื่อนไขเพราะความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนจะมีการปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือไม่คงต้องดูว่าต้นทุนในการรับประกันภัยต่อเป็นอย่างไร

โดยการแพร่ระบาดในวงกว้างอาจทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาอาจได้รับการดูแลจากรัฐทั้งหมด เงื่อนไขของแบบประกันอาจต้องเปลี่ยนไปโดยอาจเป็นการชดเชยรายได้เป็นรายวันให้แทน ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการปรับเงื่อนไขแบบประกันเช่นกัน เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลแล้ว

นายอานนท์ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย บอกถึงเรื่องนี้ว่า ในช่วงแรกกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองแบบเจอ จ่าย จบ ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาก แต่จากการที่อัตราการระบาดของ Covid-19 ในช่วงหลังนี้มีความรุนแรงต่างจากช่วงแรกมาก ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน อัตราการระบาดในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ถึง 50 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 600 คนแล้ว ประกันแบบ เจอ จ่าย จบ จึงมีโอกาสจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงเพราะความถี่คนที่ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น การกำหนดอัตราเบี้ยก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ ถ้าความเสี่ยงสูงขึ้น ต้องมีการปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันภัยหรือจำกัดเงื่อนไขสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การกำหนดให้มีระยะเวลารอคอย 14 วัน เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทลง ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยออกมาขายแต่ละครั้ง บริษัทจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงสะสมที่ได้รับประกันภัยไว้ และบริษัทมีสัญญาประกันภัยต่อรองรับขนาดไหน บริษัทมีสถานะเงินกองทุนที่มั่นคงเพียงใด ซึ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่ก็สามารถรับประกันภัยได้มาก บริษัทเล็กก็รับได้น้อย ส่วนนี้จึงเป็นข้อจำกัดของแต่ละบริษัท จะเห็นว่าบางบริษัทขายเต็มจำนวน เต็มขีดความสามารถในการรับแล้วก็ต้องหยุดการขาย เพราะไม่มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับได้

คปภ.สั่งห้ามปฏิเสธความรับผิดชอบ

สุทธิพล เลขาฯ คปภ.บอกว่า ทาง คปภ.ได้มีคำสั่งในฐานะนายทะเบียน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันชีวิตและประกันภัย

โดยระบุในลักษณะเดียวกันว่า “บริษัทจะไม่ถือว่าโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นโรคที่บริษัทจะยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดในระหว่างที่รัฐบาลมีมาตรการป้องกันลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมาตรการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าว แต่ไม่รวมถึงกรณีเป็นโรคติดเชื้อไวรัส COVD-19 ในระหว่างระยะเวลารอคอยหรือเป็นมาก่อนทำสัญญาประกันภัยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันภัยนี้”

สรุปแล้ว การประกันภัยโควิด-19 ถือว่าจำเป็นในภาวะปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีหลักประกันความคุ้มครองอยู่เลยเพราะความเสี่ยงใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ แต่จะซื้อหาอย่างไรแบบไหนตามแนวทางที่บอกไว้เบื้องต้นน่าจะช่วยในการตัดสินใจได้ และที่สำคัญคือถ้าเลือกก่อนเงื่อนไขที่ได้รับน่าจะดีกว่า เพราะถ้าหากความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นรับรองได้เลยว่าเบี้ยหรือเงื่อนไขมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน หรืออาจเห็นหยุดหรือยกเลิกการรับประกันไปเลยก็ได้ ดูตัวอย่างน้ำท่วมปี 2554 ก็ได้ จากประกันน้ำท่วมแถมฟรี อย่าว่าแต่หาซื้อเลย เพราะไม่มีใครอยากขายเหมือนกัน

แต่ถ้ารัฐบาลจัดการได้ เอาอยู่ ก็โชคดีกันไป?
กำลังโหลดความคิดเห็น