โดย รินรดา นรากรพิจิตร์
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ในช่วงสามปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินนักลงทุนพูดกันถึงราคาหุ้นกลุ่มธนาคารที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีเท่าไรนัก แต่ถ้าเราดูแยกในรายตัวเราจะพบว่าแท้จริงแล้วราคาหุ้นของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ (ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี) เป็นสัดส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่หุ้นธนาคารขนาดกลางที่เน้นปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลกลับยืนได้ การปรับตัวของราคาหุ้นธนาคารขนาดใหญ่นั้นสอดคล้องกับการเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจที่ช้าลง
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสินเชื่อบุคคลที่ผ่านมาพบว่าเป็นตัวช่วยดึงให้สินเชื่อรวมยังโตได้ดี ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเอสเอ็มอี กลับไม่สามารถโตได้อย่างน่าพอใจเท่าใดนัก ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน
เราอาจไม่สามารถโทษเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกสองปัจจัยที่อาจช่วยอธิบายการที่สินเชื่อธุรกิจโตช้าลงในช่วงที่ผ่านมา โดยต้องขออธิบายก่อนว่าเมื่อภาคธุรกิจต้องการเงินก็จะมีทางเลือกหลักๆ คือ 1.) กู้ธนาคารพาณิชย์ 2.) ออกตราสารหนี้ หรือ 3.) การเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ปัจจัย 1: ภาคธุรกิจหันไปออกตราสารหนี้ (corporate bond) เพิ่มมากขึ้น
ยอดการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้นได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2019 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 24% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ (ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา กนง. มีมติลดดอกเบี้นโยบายไทยเหลือ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสิบปี) ส่งผลให้ภาคเอกชนหันมาล็อกต้นทุนทางการเงินโดยการออกตราสารหนี้ แทนที่จะไปกู้ธนาคารที่จะได้ดอกเบี้ยลอยตัว (floating rate)
สำหรับภาพรวมทั้งโลกในปี 2019 ข้อมูลจาก Dealogic เปิดเผยว่าปริมาณการออก corporate bond ทั้งโลกก็มากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกูรูก็ต่างมองว่าเป็นเพราะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ
ถ้าย้อนดูแนวโน้มในอดีตของประเทศที่ตลาดการเงินพัฒนาสูงสุดอย่างสหรัฐอเมริกา ภาคเอกชนได้หันมาหาแหล่งเงินทุนโดยไม่ต้องผ่าน ‘ตัวกลาง’ อย่างธนาคาร เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเห็นได้จากหุ้นกู้คงค้างภาคเอกชน (outstanding corporate bond) ที่เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จากช่วงปี 1985 ถึงปี 2013 และกินแชร์ของสินเชื่อธนาคารอย่างต่อเนื่อง โดยภาพคล้ายกันนี้ก็เริ่มเห็นได้ในประเทศไทย (
ปัจจัย 2: ภาคธุรกิจเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (ปี 2010-2019) ได้มีหลักทรัพย์เข้ามาจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมกันถึง 316 หลักทรัพย์ คิดเป็นเงินระดมทุนรวมมากกว่า 8.5 แสนล้านบาท ณ ไตรมาส 3 ปี 2019 สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์ไทยรวมทั้งระบบอยู่ที่ 8.7 ล้านล้านบาท ดังนั้นการที่ สินเชื่อจะโตได้ 1% ต่อปี ต้องมีภาคธุรกิจหรือบุคคลมาขอกู้เพิ่มทั้งสิ้น 8.7หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2017-2019 แต่ละปีมีบริษัทเข้ามาระดมทุน ปีละประมาณแสนล้านบาท ก็จะใกล้เคียงกับ การเติบโต 1% ที่ธนาคารจะเสียไป
สรุปคือเมื่อภาคธุรกิจหันมาใช้ประโยชน์จากช่องทางอื่นๆในการหาแหล่งเงินทุน ในภาวะที่ดอกเบี้ยเอื้ออำนวยโดยไม่ต้องผ่านเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ ทำให้การปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ถูก disrupt อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคธุรกิจที่มีเครดิตดีกว่าก็ย่อมมีทางเลือกมากเป็นธรรมดา ส่วนบุคคลธรรมดาถ้าต้องการกู้เงินก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนักทำให้ธนาคารและกลุ่ม non-bank ยังได้เห็นสินเชื่อบุคคลเติบโตได้ดีและยังมี spread ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตามสำหรับทุกธนาคารไม่ว่าลูกค้าสินเชื่อหลักจะเป็นกลุ่มใด กลุ่มธนาคารก็ยังมีความท้าทายในอนาคตที่จะเข้ามา disrupt ได้อีก เช่น ในระยะยาวถ้า digital bank เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่เราต้องจับตามอง คือธนาคารใดจะปรับตัวได้ก่อนในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาและจะเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งขึ้นอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า