ศิรารัตน์ อรุณจิตต์
กองทุนบัวหลวง
ในช่วงต้นปี 2017 ที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีน ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่สร้างความกังวล ได้แก่
1) โครงสร้างเศรษฐกิจ หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจจีนปี 2017 อาจขยายตัวชะลอลงจากการลงทุนภาครัฐและทิศทางการบริโภคภาคเอกชนที่อาจอ่อนแรงลง ท่ามกลางเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มจำกัด อีกทั้งการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใหม่ (Emerging sectors) และนวัตกรรมการผลิตแบบ Smart manufacturing ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร
2) ภาระหนี้สิน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังดูสั่นคลอน จากภาระหนี้ภาคเอกชนของจีนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 60% ของหนี้ภาคเอกชนทั้งประเทศ หรือราว 70 ล้านล้านหยวนและรัฐวิสาหกิจกว่า 35% ยังมีผลการดำเนินงานขาดทุน
3) เสถียรภาพของค่าเงิน ค่าเงินหยวนได้อ่อนค่าลง 6.5% ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่สกุลเงินหยวนมีค่าลดลง และเกิดการไหลออกของเงินทุน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจจีนเมื่อต้นปี 2017 อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนได้ดิ่งลงรวมเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับสูงสุดที่ 3.99 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือน มิ.ย. 2014 ลงมาเหลือ 2.998 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 2017 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่าหลุดแนวรับในเชิงจิตวิทยาที่จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน
แต่พอสิ้นปี 2017 ปรากฏว่า มุมมองเกี่ยวกับจีนได้เปลี่ยนแปลงไป ด้วยข้อเท็จจริงต่างๆ ดังนี้
1) โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่คิดว่าแย่ ความเป็นจริงแล้วไม่แย่ขนาดนั้น เศรษฐกิจยังเติบโตได้ถึง 6.9% สูงกว่าระดับ 6.7% ในปี 2016 และสูงกว่าเป้าที่รัฐบาลได้ตั้งไว้เพียงประมาณ 6.5% ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศที่เข้มแข็งและผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง อัตราการว่างงานคงที่ในระดับต่ำ และการส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศของรัฐบาล ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนโดยรวมก็เติบโตได้ดี ด้วยแรงหนุนของสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งได้ลดกำลังการผลิตส่วนเกินและการจัดการกับบริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
2) ภาระหนี้สิน ก็ไม่แย่มากอย่างที่กังวล ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลในการคุมเข้มการขยายตัวของสินเชื่อและสถาบันการเงินนอกระบบ พร้อมทั้งการสร้างเสถียรภาพในภาคธนาคาร ส่งผลให้ Moody’s ได้ปรับมุมมองภาคธนาคารของจีน ในเดือนก.ค. จาก “เชิงลบ” เป็น “มีเสถียรภาพ”
3) เสถียรภาพของค่าเงิน ก็ดีขึ้น จากที่การไหลออกของเงินทุนได้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจจีนเมื่อต้นปี 2017 แต่ด้วยการตัดสินใจของรัฐบาลในการเพิ่มความเข้มงวดการเคลื่อนย้ายเงินทุน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนลงได้ช่วยหนุนค่าเงินหยวนให้ฟื้นกลับคืนมาได้เป็นอย่างมาก พร้อมกับเสริมความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีนโดยรวม โดยในปี 2017 ค่าเงินหยวนปรับแข็งขึ้นประมาณ 6.8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนได้เพิ่มขึ้นรวม 129,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2017 จากระดับ 3.011 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นปี 2016 โดยปี 2017 ถือเป็นปีแรกที่เงินทุนสำรองได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา และข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2018 อยู่ที่ 3.16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปีครึ่ง ซึ่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มา 12 เดือนติดต่อกันแล้ว
ด้วยความยืดหยุ่นของการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างรวดเร็ว มีการใช้นโยบายการเงิน ที่ไปมุ่งเน้นเฉพาะเจาะจงที่ตลาดการเงิน อีกทั้งทางธนาคารกลางจีน ได้มีการใช้เครื่องมือ Macro prudential policies ต่างๆ รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมืองที่นิ่ง ผู้นำสามารถรวบอำนาจได้ทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ถือเป็นองค์ประกอบแวดล้อมให้เอื้อต่อการขยับขึ้นของเศรษฐกิจ และแม้ว่ามี consolidation ก็ไม่ได้ทำให้จีน hard landing อย่างที่กลัวกันในตอนแรก
จากภาพรวมที่ดีขึ้นดังกล่าว ทั้งภาพเศรษฐกิจที่ดี เสถียรภาพของค่าเงินที่ดีขึ้น ประกอบกับทางการจีนสามารถใช้นโยบายเฉพาะจุด (Targeted Policies) แบบผสมผสานทั้งการเงินและการคลัง เพื่อรับมือกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศได้นั้น ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ขึ้นอีก 0.1% ในปี 2018 และ 2019 เป็น 6.6% และ 6.4% ตามลำดับ จากเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ จากความท้าทายอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคการเงิน และภาคการเมือง ที่ได้ก่อให้เกิดความกังวลกับนักลงทุนนั้น เรากลับได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับของจีน หลังจากที่ทางการได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและต้องการให้จีนไปสู่เศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ทำให้เราเชื่อมั่นว่าจีนจะสามารถนำพาเศรษฐกิจไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ประกอบกับประมาณการจาก Centre for Economic and Business Research แห่งลอนดอนที่ระบุว่า ภายในปี 2030 เศรษฐกิจของจีนจะก้าวขึ้นมาเหนือกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงการเปิดเสรีเศรษฐกิจและภาคการเงินของรัฐบาลจีนที่มากขึ้น จะหนุนนำเศรษฐกิจขยายตัวดี รายได้ประชากรเติบโต กำลังซื้อเพิ่มพูนตามมา ก่อให้เกิดการเติบโตในทุกมิติ ทำให้เราเห็นโอกาสของการลงทุนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นจีนมีขนาดใหญ่ถึง 7.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ของจีนมีขนาด 9.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าโอกาสการลงทุนดังกล่าวจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนระยะยาวได้ไม่ยากเลย