ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุผู้พลัดตกบ่อบำบัดน้ำเสียของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางนา กรุงเทพฯ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย โดยเป็นนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ราย และเป็นพนักงานบริษัทอีก 4 รายนั้น
สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกราย สำหรับความคืบหน้าจากการตรวจสอบข้อมูลด้านการทำประกันภัยพบว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท อลิอันซ์ อยุธยาประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยเป็นการประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มให้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมงาน จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาทต่อคน ในส่วนของพนักงานได้มีการทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มแบบระบุตำแหน่งงาน (ไม่ระบุชื่อ) จำนวนเงินเอาประกันภัยขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ไม่เกิน 3,000,000 บาทต่อคน อย่างไรก็ตาม บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหารได้ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย รายละ 3,000,000 บาท แล้ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต โดยในวงเงินดังกล่าวได้รวมค่าสินไหมทดแทนในส่วนของการประกันภัยไว้ด้วยแล้ว ดังนั้น ขอให้ญาติหรือทายาทของผู้เสียชีวิตตรวจสอบว่ามีการทำประกันภัยประเภทอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ หรือสามารถสอบถามได้ที่สำนักงาน คปภ. สายด่วน ประกันภัย 1186 หากมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมขอให้แสดงเอกสารและหลักฐานการทำประกันภัยต่อบริษัทประกันภัย เพื่อจะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัยอย่างครบถ้วน สำนักงาน คปภ.พร้อมที่จะช่วยเร่งรัดและช่วยประสานงานความช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
เลขาธิการ คปภ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วนจากการทำประกันภัย ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงรุกตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ในการเพิ่มบทบาทให้ระบบประกันภัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางรากฐานความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนสามารถนำเอาระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ
“อยากให้เจ้าของผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ รวมถึงประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญของระบบประกันภัย ที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง รวมถึงสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนทุกระดับ เช่น การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน การประกันอัคคีภัย การประกันชีวิต หรือการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งการประกันภัยเหล่านี้จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินให้แก่เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการ หรือประชาชนได้ หากเกิดภัยที่ไม่คาดคิดขึ้น” เลขาธิการ คปภ.กล่าวทิ้งท้าย