คปภ.เผย จากเหตุการณ์หญิงสาวตกรางรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ตรวจสอบข้อมูลพบว่าแอร์พอร์ตลิงก์ได้มีการทำประกันกับ บริษัททิพยประกันภัย โดยรายละเอียดความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตไม่เกิน 400,000 บาทต่อคน คปภ.ได้เร่งรัดดำเนินการกับทางบริษัทให้จ่ายสินไหมทดแทนแก่ญาติผู้เสียชีวิตแล้ว
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหญิงสาวอายุราว 30 ปีพลัดตกรางรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ บริเวณสถานีทับช้าง เป็นเหตุให้ถูกรถไฟทับจนเสียชีวิตนั้น
สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต สำหรับความคืบหน้าล่าสุด สำนักงาน คปภ.ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือแอร์พอร์ตลิงก์ได้มีการทำประกันภัยไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก โดยมีจำนวนเงินจำกัดความรับผิดไม่เกิน 40,000,000 บาทต่อครั้งตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย และมีรายละเอียดความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ไม่เกิน 400,000 บาทต่อคน ค่ารักษาไม่เกิน 40,000 บาทต่อคน และความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน เบื้องต้นสำนักงาน คปภ.ได้เร่งรัดให้บริษัทฯ ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้เสียชีวิตแล้ว โดยจะได้รับความคุ้มครองเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท ดังนั้น ขอให้ญาติหรือทายาทของผู้เสียชีวิตนำหลักฐานยื่นต่อบริษัทและตรวจสอบว่ามีการทำประกันภัยประเภทอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ หากมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมขอให้แสดงเอกสารและหลักฐานการทำประกันภัยต่อบริษัทประกันภัย เพื่อจะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัยอย่างครบถ้วน
เลขาธิการ คปภ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบประกันภัยไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ยังเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนทุกระดับได้ ซึ่งสำนักงาน คปภ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบประกันภัยและคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วนจากการทำประกันภัย จึงมุ่งเน้นนโยบายเชิงรุกตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ในการเพิ่มบทบาทให้ระบบประกันภัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางรากฐานความเข้มแข็งของประเทศ รวมทั้งการนำเอาระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน
“ปัจจุบันขนส่งมวลชนสาธารณะทุกประเภทล้วนมีความสำคัญ โดยเห็นได้จากมีประชาชนใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก ทั้งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และช่วงเวลาปกติ หากต่อไปมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีการประกันภัยภาคบังคับสำหรับขนส่งมวลชนด้วยก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งสำนักงาน คปภ.พร้อมที่จะบูรณาการให้ความร่วมมือในการให้ความรู้ด้านประกันภัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความคุ้มครองในการดำเนินงานตามภารกิจขององค์กร ซึ่งจะทำให้ระบบประกันภัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้บริการขนส่งสาธารณะได้อีกทางหนึ่งด้วย” เลขาธิการ คปภ.กล่าวทิ้งท้าย