xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ว่าจะ Brexit หรือ Bremain ยังคงแนะนำลงทุนในหุ้นไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในวันที่บทความนี้ได้ลงตีพิมพ์ ผลการลงประชามติของชาวอังกฤษคงจะออกมาแล้วว่าจะอยู่ หรือจะออกจากสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งนักลงทุนที่ติดตามข่าว Brexit คงจะพอทราบถึงผลกระทบที่จะตามมาได้เป็นอย่างดีแล้ว หากจะกล่าวโดยสรุปอีกครั้ง ในกรณีที่ชาวอังกฤษเลือกที่จะออกจาก EU ในวันที่ 24 มิ.ย. ผลทางกฎหมายใช่ว่าจะเริ่มขึ้นโดยทันที กระบวนการการออกจาก EU จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อรัฐบาลอังกฤษขอออกจากสหภาพยุโรปตามมาตรา 50 ของ EU Treaty และเมื่อขอออกจากการเป็นสมาชิกแล้ว อังกฤษจะมีเวลา 2 ปีในการเจรจาข้อตกลงด้านการค้า ภาษี การเคลื่อนย้ายแรงงาน และอื่นๆ ซึ่งในช่วงการเจรจาต่อรอง อังกฤษก็ยังคงเป็นสมาชิก EU ตามปกติ ดังนั้น ผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งต่ออังกฤษ สหภาพยุโรป และต่อประเทศคู่ค้าต่างๆ จะยังไม่เห็นผลรุนแรงในช่วงสั้น แต่กระนั้น ผลกระทบที่จะเห็นชัดเจนหลังการลงประชามติว่า “ออก” (Brexit) จะไปส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน และการลงทุนทั้งในตลาดเงิน และตลาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของตลาด ที่เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น นักลงทุนมักจะลดความเสี่ยงในการลงทุนลง แต่กระนั้น ผู้จัดการกองทุนมองว่า หากตลาดปรับลงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อของดี ราคาถูก ซึ่งจะกล่าวต่อไปว่าทำไมจึงเห็นเช่นนั้น ในทางตรงกันข้าม หากประชาชนชาวอังกฤษเลือกที่จะ “อยู่” (Bremain) ต่อในสหภาพยุโรป ความกังวลต่างๆ ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรป อังกฤษ หรือของโลก ก็จะหายไป

นักลงทุนอาจจะมีคำถามว่าทำไมผู้จัดการกองทุนยังคงแนะนำให้ลงทุนในตลาดไทยไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว เหตุผลในการคงการลงทุนในตลาดหุ้นไทย (รวมทั้งตลาด Emerging Markets) มีดังนี้

1. นักลงทุนในตลาดทราบอยู่แล้วว่าอังกฤษจะมีการลงประชามติในวันที่ 24 มิย. ดังนั้น นักลงทุนที่กังวลถึงความเสี่ยงน่าจะได้ทำการปรับลด Weight การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไปแล้ว ดังนั้น หากเกิด Brexit ผู้จัดการกองทุนคาดว่าการปรับลงของตลาดจะไม่รุนแรงนัก ในทางตรงข้าม หากประชามติออกมาเป็น Bremain จะมีเงินลงทุนที่ออกจากตลาดไปก่อนหน้าจะต้องกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง

2. จาก Global Fund Manager Survey จัดทำโดย Bank of America Merrill Lynch ในวันที่ 14 มิ.ย. ข้อมูลได้บ่งชี้ว่า ผู้จัดการกองทุนต่างชาติยังคงน้ำหนักการลงทุนที่มากกว่าตลาด (Overweight) ในตลาดหุ้นยุโรปอยู่ ซึ่งหากเกิดกรณี Brexit มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เงินลงทุนที่ Overweight ในยุโรปจะ Switch ออกมาลงทุนใน Emerging Markets มากขึ้นจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจยุโรปและอังกฤษ

3. ในกรณีที่เกิด Brexit ธนาคารกลางในประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จะต้องออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศตน ดังนั้น ความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะรีบขึ้นดอกเบี้ยในเดือน กรกฎาคม หรือกันยายน อาจจะต้องเลื่อนออกไป ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่นจะต้องเร่งออกมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อนโยบายทางการเงินยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลาย และอาจจะมีการเพิ่มนโยบายทางการคลัง (Fiscal QE) เข้ามาเพิ่มด้วย Asset Class หนึ่งที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น หากตลาดมีการปรับลดลงจาก Brexit ให้ใช้โอกาสนี้ในการเข้าเลือกซื้อหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาตกลงมา

4. ในกรณีที่ออกมาเป็น Bremain เชื่อว่าดัชนีจะสามารถปรับขึ้นได้ แต่การปรับขึ้นจะมีขอบเขตจำกัด (จาก Valuation ของตลาดที่เริ่มแพงแล้ว PER ‘2016 ที่ 15 เท่า) โดยได้แรงหนุนจากนโยบายดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) ขณะที่ปัจจัยที่จะกดทำให้ดัชนีปรับขึ้นไม่ได้ไกลหรือเกิด Market Correction จะเกิดจากความกังวลที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งผู้จัดการกองทุนคาดว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้ในเดือนกันยายนนี้เป็นอย่างเร็ว การเลือกหุ้นเข้าลงทุนในราคาที่เหมาะสมจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญมากในช่วงเวลานี้

5. สำหรับตลาดหุ้นไทย ถึงแม้นับตั้งแต่ต้นปีจะให้ผลตอบแทนสูงถึงกว่า 10% แล้ว และอาจจะยังไม่เห็น Drivers ของเศรษฐกิจที่เด่นชัด แต่หากติดตามการประมาณการผลกำไรของตลาดหุ้นที่ถูกนักวิเคราะห์ปรับลดลงมาตั้งแต่ต้นปี ตัวเลขประมาณการนี้เริ่มทรงตัวตั้งแต่เดือนเมษายน และเริ่มเห็นการปรับเพิ่มประมาณการในหุ้นบางกลุ่ม ทำให้ถึงแม้ตลาดจะเริ่มมี Valuation ที่ตึงตัว แต่ก็จะมีหุ้นที่สามารถเลือกลงทุน และให้ผลตอบแทนที่ดีได้

ดังนั้น ในส่วนกลยุทธ์การลงทุนที่มีปัจจัยเสี่ยงรออยู่เป็นช่วงๆ ดังเช่นกรณีที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์แบบ Bottom-up โดยเลือกหุ้นที่พื้นฐานดี มี Earnings Momentum ที่ดีต่อเนื่อง โดย Sector ที่ผู้จัดการกองทุนยังคงให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด เช่น อาหาร ค้าปลีก โรงพยาบาล ท่องเที่ยว ก่อสร้าง ขณะที่ Sector ที่ให้น้ำหนักเท่ากับตลาด ได้แก่ ธนาคาร พลังงาน โทรคมนาคม Sector ที่ให้น้ำหนักต่ำกว่าตลาด ได้แก่ ขนส่ง

ทีมจัดการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น