xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจการบินยุคใหม่ “บินแหลก” ในราคาประหยัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปจากแฟ้มภาพ
บัวหลวง Money Tips
โดย พิชชาภา ศุภวัฒนกุล
กองทุนบัวหลวง

หนึ่งในสตาร์ทอัพสหรัฐฯ ชื่อ OneGo นั้นกำลังบุกเบิกโมเดลธุรกิจใหม่ในวงการการบิน โดยเปิดให้ผู้เดินทางด้วยเครื่องบินเป็นประจำสมัครเป็นสมาชิกในราคาที่ตายตัวเพื่อขึ้นบินแบบไม่จำกัดเที่ยว นั่นคือผู้เดินทางติดต่อธุรกิจอย่างสม่ำเสมอจะได้สิทธิบินอย่างไม่จำกัดกับสายการบินในเครือข่ายของ OneGo โดยจ่ายค่าเดินทางล่วงหน้าเป็นรายเดือน เดือนละเท่าๆ กัน

แต่แนวคิดที่ว่านี้มิได้เป็นเรื่องใหม่เลย ซึ่ง Bloomberg รายงานว่า สายการบินหลายแห่งเคยใช้โปรโมชันทำนองว่า “บินเท่าไหร่ก็ได้” ในช่วงนอกฤดูเดินทางหนาแน่นประจำปี โดยลูกค้าส่วนใหญ่เน้นเดินทางเพื่อพักผ่อนเป็นหลัก

ตัวอย่างเช่น JetBlue Airways สายการบินราคาประหยัดในสหรัฐฯ ทำโครงการนี้สองครั้งในปี 2009 และปี 2010 โดยเสนอแพกเกจบินไม่จำกัดเที่ยวในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ผ่านการขายบัตรโดยสารแบบเหมาเที่ยวบินภายใน 31 วัน ราคา 599 ดอลลาร์สหรัฐ และอีกแพกเกจที่อาจเพิ่มข้อจำกัดขึ้นสักหน่อย เพราะราคาจะแปรผันไปตามช่วงวันเวลาที่เลือกเดินทาง แต่ยังคิดในราคาเหมาจ่าย 499 ถึง 699 ดอลลาร์สหรัฐ

ว่าแต่คอนเซ็ปต์ “บินแหลก” จากสหรัฐฯ นี้มาเกี่ยวกับพวกเราชาวอาเซียนอย่างไร แล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโมเดลธุรกิจคล้ายกันนี้บ้างไหม หากติดตามต่อไปก็จะเข้าใจว่า โปรแกรม “บินแหลก” นั้นน่าจะเกิดได้ในภูมิภาคของเราในอีกไม่นาน จนเราต้องตื่นตัวตามไปด้วย

ไม่ต่างจากการเดินทางในสหรัฐฯ สักเท่าไหร่นัก ความห่างไกลหรือระยะทางถือเป็นปัญหาใหญ่ในอาเซียนเช่นกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาการเดินทางทางอากาศเป็นหลัก หากจะตระเวนไปให้ทั่วถึงทุกประเทศ นอกเหนือจากระยะทางจะไกลกันแล้ว ดินแดนของเรานั้นยังประกอบไปด้วยประเทศหมู่เกาะน้อยใหญ่ ซึ่งถูกคั่นขวางด้วยทะเลอีกด้วย

หากพิจารณาถึงปัจจัยหนุนให้โมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิกแล้วบินไม่อั้นบังเกิดขึ้น ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น ความสะดวกของระบบวีซ่าและการเข้าออกระหว่างเขตแดน ความจำเป็นที่ต้องติดต่อหากันมากขึ้น รวมทั้งความจำเป็นของการเดินทางภาคอากาศในฐานะเครื่องมือขนส่งหลัก ด้วยกรอบปฏิญญาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ช่วยปูทางให้การเดินทางระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันง่ายขึ้น นโยบายต่างประเทศที่เน้นผสานความร่วมมือระหว่างชาติทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง และระบบขนส่งทางรางที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก รวมทั้งสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นพื้นดินเดียวกัน แต่แยกเป็นเกาะแก่ง ทำให้การเดินทางทางอากาศเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การเปิดตัวโปรแกรม “บินแหลก” เป็นรายเดือนหรือรายปีเพื่อตอบโจทย์นี้ก็ดูเหมือนจะน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างในอุตสาหกรรมการบินที่ช่วยหนุนให้แนวคิดนี้สำเร็จ ก็คือการขยายตลาดของสายการบินราคาประหยัด (low cost airlines) ซึ่งให้บริการในราคาย่อมเยากว่าสายการบินปกติ ศูนย์การบินเอเชียแปซิฟิกประจำออสเตรเลีย (CAPA) ระบุว่า สัดส่วนของสายการบินราคาประหยัดในตลาดการบินอาเซียนทั้งหมดเติบโตจากศูนย์จนถึง 58% โดยใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น

ที่มาของสายการบินราคาประหยัดนั้น เริ่มต้นจากความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหมู่คนชั้นกลางและคนมีเงินในภูมิภาค โดยในปี 2014 เพียงปีเดียวมีสายการบินเปิดตัวใหม่ถึง 12 แห่ง เพื่อเข้าร่วมแข่งขันกับสายการบินราคาประหยัดที่มีอยู่เดิม 47 แห่ง และในปี 2015 จำนวนเครื่องบินโดยสารของสายการบินกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึง 70 ลำ หรือ 13% จนมีเครื่องบริการทะลุเกิน 600 ลำไปแล้ว จากปี 2013 ที่มีแค่ 400 ลำ แสดงว่าธุรกิจขยายตัวถึง 50% ในเวลาไม่ถึงสามปี ซึ่งทาง CAPA เคยรายงานในปี 2014 ว่ากลุ่มอาเซียนนั้นเป็นภูมิภาคเดียวที่มีคำสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารมากกว่าจำนวนเครื่องบินที่กำลังปฏิบัติงาน

ในภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ซึ่งอาศัยในหมู่เกาะเป็นจำนวนมาก เช่นในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ วิธีเดินทางโดยสะดวกที่สุดหนีไม่พ้นการบิน จึงไม่แปลกที่เส้นทางบินระหว่างประเทศของสายการบินราคาประหยัดที่หนาแน่นที่สุด 9 ใน 15 เส้นทางบินของโลกอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง ตัวเลขนี้บอกถึงความต้องการเดินทางในราคาประหยัดที่เพิ่มและถี่ขึ้น

แล้วจะมีสิ่งไหนที่คุ้มค่าสำหรับนักเดินทางตัวยงในอาเซียนมากไปกว่าแพกเกจเดินทางในราคาตายตัว ซึ่งผู้เดินทางพร้อมจะจ่ายเพื่อแลกกับเที่ยวบินไม่จำกัด

เมื่อแนวคิดว่าด้วยค่าบริการแบบสมัครสมาชิกเพื่อแลกกับสิทธิขึ้นบินไม่อั้น ซึ่งเริ่มนิยมในภูมิภาคอื่นอย่างดี ก็มีแนวโน้มสูงว่าจะเติบโตได้ในภูมิภาคของเรา เฉกเช่นธุรกิจสตาร์ทอัพชื่อดังในระบบสมัครสมาชิก เช่น Uber หรือ Netflix ซึ่งมาเปิดตลาดในอาเซียนจนประสบความสำเร็จแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารูปแบบแพกเกจบริการแนวสมัครสมาชิกจะเป็นโมเดลทางธุรกิจที่ผลักดันไลฟ์สไตล์แบบบินแหลกต่อไปได้หรือไม่นั้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าธุรกิจยุคใหม่ในอาเซียนจะต้องพึ่งการบินมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอาเซียนเชื่อมโยงถึงกันทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นแรงหนุนให้ต้องบินไปมาระหว่างเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นไปด้วย

แต่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของเหล่านัก “บินแหลก” ในอนาคต เราคงต้องคอยต่อไปว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในอาเซียน และหวังว่าจะมาได้ทันเวลาเพื่อช่วยหนุนให้เออีซีเดินหน้าได้อย่างเต็มเหยียด


กำลังโหลดความคิดเห็น