xs
xsm
sm
md
lg

“สมาคม บลจ.-นักลงทุนสถาบัน” เล็งใช้สิทธิผู้ถือหุ้น CPALL เรียกร้องให้ผู้บริหารแก้ไขปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC แถลงไม่ถือหุ้น CPALL เพิ่มเติมและขอดูท่าทีต่อจากนี้ ขณะที่สมาชิกสมาคม AIMC เล็งใช้สิทธิในการออกเสียงผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งต่อไปของ CPALL

นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ในการประชุมของสมาคมจัดการลงทุน (AIMC) และนักลงทุนสถาบันที่มีทั้งสำนักงานประกันสังคม กบข. และบริษัทประกัน ที่ได้มีการประชุมหารือกันในกรณีเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัท CPALL ในเรื่องการใช้ข้อมูลภายในที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยที่ประชุมมีผลสรุป 4 ข้อ ได้แก่

1.) ทาง บลจ.ในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้จะไปใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของ CPALL เพื่อให้ทางผู้บริหารให้ความชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้

2.) ทางสมาคมจัดการลงทุนได้ดำเนินการในเรื่องนี้ถึงที่สิ้นสุดแล้ว และหลังจากนี้ไปถือว่าหมดหน้าที่ของสมาคมฯ แล้ว ในเรื่องนี้ต่อไปจะเป็นเรื่องของทาง บลจ. และสถาบันการลงทุนที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ตามแต่ละ บลจ.

3.) ที่ผ่านมา บลจ.ต่างๆ ไม่ได้มีการลงทุนเพิ่มในหุ้น CPALL

4.) ในฐานะผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าหนี้ จะไม่มีการลงทุนเพิ่มในหุ้น CPALL และตราสารหนี้อื่นๆ ที่ออกโดยบริษัท CPALL ถ้ายังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

ทั้งนี้ การที่จะขายหุ้น CPALL ออกมาอีกนั้น ทางสมาคมฯ ไม่ได้มีมติในเรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละ บลจ.ที่จะดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาบางรายก็ได้ขายออกไปบ้างแล้ว แต่คงไม่ขายทั้งหมดเพราะต้องการถือไว้เพื่อให้มีสิทธิในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น ขณะดียวกัน บลจ.ที่เป็นบริษัทในเครือของธนาคารนั้น ได้ดำเนินการในเรื่องนี้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนเป็นหลักมากกว่าผู้ถือหุ้น ดังนั้น ทาง บลจ.จะทำหน้าที่ในด้านนี้ต่อไป และทางธนาคารที่เป็นบริษัทแม่ก็ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ ในเรื่องนี้นักลงทุนต่างชาติเองก็ใช้สิทธิในการเข้าไปประชุมผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกัน

“ในเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัท CPALL นั้น จากนี้ไปหากมีการดำเนินการที่ทำให้เห็นว่ามีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ทางสมาคมฯ ก็มีความเห็นว่าให้แต่ละ บลจ.สามารถพิจารณาในเรื่องการที่เข้าไปลงทุนได้ตามความเห็นของแต่ละ บลจ. โดยในการดำเนินการของสมาคมฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เป็นการให้ผู้ลงทุนได้รับรู้ในเรื่องความเป็นธรรมและคาดหวังว่าจะให้บริษัท CPALL ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ปัญหาที่ชัดเจนของทาง CPALL นั้นคือการที่ผู้บริหารต้องลาออกมั้ย นางวรวรรณไม่ตอบชัดเจนในเรื่องนี้ ตอบเพียงว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในลักษณะถอยห่างให้รับรู้ก็ถือว่าเป็นไปในลักษณะที่ดี ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่มีการลงทุนเพิ่ม ส่วนเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มทุนของ TRUE นั้นทางที่ประชุมไม่ได้พูดถึงเรื่องผลกระทบในเรื่องนี้

ทางด้านนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ เพราะประเด็นเรื่องของผู้บริหารนั้นถือเป็นปัจจัยต่อเรื่องของการลงทุนในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าปล่อยไปไม่ได้

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า ในเรื่องนี้เราจะไปใช้สิทธิในการออกเสียงผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการในหลักสากลในฐานะผู้ถือหุ้นในการใช้สิทธิออกเสียง เพื่อเป็นการให้รับรู้ว่าในสังคมจะต้องไม่เกิดเรื่องนี้ขึ้นอีกเพราะกระทบต่อตลาดหุ้นไทย

สำหรับการประชุมมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 21 ราย ได้แก่ กบข., สำนักงาน ก.ล.ต., สำนักงานประกันสังคม, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย, สมาคม CFA, บมจ.ไทยประกันชีวิต, บลจ.บัวหลวง, บลจ.กรุงไทย, บลจ.กรุงศรี, บลจ.กสิกรไทย, บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล, บลจ.ภัทร, บลจ.ทหารไทย, บลจ.ทิสโก้, บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.ธนชาต, บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย), บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย), บลจ.วรรณ, บลจ.เอ็มเอฟซี, บลจ.แอสเซท พลัส


กำลังโหลดความคิดเห็น