โดย พิชชาภา ศุภวัฒนกุล
กองทุนบัวหลวง
ก้าวสู่ศักราชใหม่ 2016 ซึ่งมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรอคอยอยู่ เราขอทบทวนสถานการณ์สำคัญของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนในปี 2015 ที่ผ่านไป ให้เข้าใจทิศทางของแต่ละประเทศพอสังเขปต่อไปนี้
อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเริ่มต้นปี 2015 ด้วยความหวังอันสดใสในด้านปฏิรูปพลังงาน พร้อมกับชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดี โจโก วีโดโด แต่ด้วยขั้นตอนปฏิบัติที่ไร้ประสิทธิภาพได้ค่อยๆ ถ่วงรั้งโมเมนตัมบวกเรื่อยๆ แต่ยังดีที่เกิดการปรับคณะรัฐมนตรี การปรับงบค่าใช้จ่ายในงานโครงสร้างพื้นฐาน และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถึงสามชุดหลัก ได้แก่ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนในค่าเงินรูเปียห์และตลาดหุ้น และลดต้นทุนปฏิบัติการต่างๆ ในประเทศ เพื่อหนุนอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียเอง
ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวเร่งความเติบโตในปีหน้า โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสุดท้ายนั้นจะรวมถึงการลดราคาเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และก๊าซ อุดหนุนสินเชื่อรายย่อย ขยายเงินกู้ให้ธุรกิจขนาดเล็ก และลดความซ้ำซ้อนในการออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อลงทุน ส่วนด้านการเมืองในประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่อันดับสามของโลกแห่งนี้นั้นเพิ่งจะผ่านพ้นการเลือกตั้งผู้นำระดับท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเร่งกลไกปฏิรูปเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจโกวีให้รุดหน้า
มาเลเซีย
นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ต้องพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ซบเซาไปตามเศรษฐกิจโลกอันชะงักงัน โดยสร้างความเชื่อมั่นเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย เร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน และยังต้องเร่งคัดเลือกโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะเพื่อเริ่มต้นโครงการในปีหน้า รัฐบาลมุ่งมั่นว่าจะทำให้สำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งพามาตรการการขาดดุลงบประมาณมากนัก เนื่องด้วยรายได้ประเทศจากน้ำมันลดลง แต่ก็จะพยายามชดเชยด้วยอัตราภาษีสินค้าและบริการ 6% ที่เริ่มเมื่อเมษายน คาดว่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการในปี 2015 ได้ 2.7 หมื่นล้านบาท และในปี 2016 ได้ 3.9 หมื่นล้านบาท
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ว่าการธนาคารชาติมาเลเซีย Zeti Akhtar Aziz เตรียมอำลาจากธนาคารกลางที่ทำงานมากว่า 3 ทศวรรษในเดือนเมษายนหน้า ขณะที่การเฟ้นหาผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่นั้นกำลังขับเคี่ยวกันสูสี ซึ่งรวมถึงผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ในตอนนี้ทั้งสองราย
ฟิลิปปินส์
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development, OECD) ฟิลิปปินส์ได้รับอานิสงส์จากพลังบริโภคในประเทศอันแข็งแกร่ง รวมทั้งรายได้จากการส่งออกแรงงานไปยังต่างประเทศ (oversea remittance) แนวโน้มที่เป็นบวกนี้เสริมหนุนด้วยความเติบโตของอุตสาหกรรมรับจ้างบริหารธุรกิจ (Business Process Outsourcing, BPO) ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วใน 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยรายรับก้าวกระโดดเป็น 10 เท่า จาก 1.55 พันล้านดอลลาร์ในปี 2004 เป็น 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2014 ขณะที่คนทำงานเพิ่มจาก 101,000 คน เป็น 900,000 คนในช่วงเดียวกัน จนผลักดันให้ประเทศฟิลิปปินส์ก้าวสู่ระดับ “ท็อป” ในฐานะผู้ให้บริการ BPO แหล่งใหญ่ที่สุดของโลก
นอกจากนี้ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย (Trans-Pacific Partnership, TPP) จะเป็นเชื้อเร่งให้การปฏิรูปตลาดโปร่งใสมากขึ้น โดยคาดว่า TPP จะช่วยกระตุ้นจีดีพีให้บวกราว 0.6-1.2 จุด และดึงดูดเม็ดเงินทุนจากต่างชาติได้ราว 2 แสนล้านดอลลาร์ในระหว่างปี 2018-2027
สิงคโปร์
ลีกวนยู ผู้เปลี่ยนโฉมประเทศจากที่เป็นแค่ศูนย์ขนถ่ายสินค้าของประเทศเจ้าอาณานิคม ให้กลายเป็นประเทศที่รุ่งเรืองก้าวหน้าที่สุดของเอเชีย และยังได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศยาวนาน 31 ปี ได้เสียชีวิตเมื่อ 23 มีนาคม
การเลือกตั้งหลังจากนั้นในวันที่ 11 กันยายน เป็นบทพิสูจน์ความนิยมในพรรคกิจประชาคม (People’s Action Party, PAP) ที่นายลีก่อตั้ง เปลี่ยนมาสู่การนำของบุตรชาย นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ยังคงได้รับชัยชนะถล่มทลาย พรรค PAP รักษาอำนาจการเมืองไว้ได้ยาวนานกว่า 50 ปี โดยครองเก้าอี้ในสภา 83 จาก 89 ที่นั่ง เหลือไว้ให้ฝ่ายค้านคือพรรคแรงงานเพียง 6 ที่นั่ง โดยมียอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 93.56%
นอกจากนั้นแล้ว บริษัทเอกชน 14 แห่งยังถูกเชิญจากทางการมาเลเซียและสิงคโปร์ ให้เสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ (HSR) ใน “เชิงลึก” คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนราว 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและสิงคโปร์เห็นพ้องกันว่าจะเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ที่สำคัญ
โดยผู้นำสองประเทศไฟเขียวโครงการ HSR แห่งแรกของอุษาคเนย์ไปเมื่อสองปีก่อนแล้ว หากเริ่มให้บริการรถไฟทางยาว 300 กิโลเมตรสายนี้ จะช่วยย่นเวลาเดินทางระหว่างเมืองหลวงของสองประเทศให้เหลือเพียง 90 นาทีเท่านั้น รวดเร็วกว่าเดินทางด้วยสายการบินราคาประหยัดทั้งหลายเสียอีก
กัมพูชา
จากรายงานเศรษฐกิจประจำปี Asian Development Outlook 2015 ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ได้ปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของกัมพูชาลง หลังเผชิญ “ลมต้าน” จนต้องปรับอัตราการเติบในปี 2015 ลงเหลือ 7% และในปี 2016 เหลือ 7.2% จากที่คาดไว้ 7.3% และ 7.5% ตามลำดับ รายงานยังชี้ว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอินเดียและจีนซึ่งแผ่วตัวเกินคาด พร้อมกับวิตกต่อการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดอุตสาหกรรมสำคัญๆ
โดยกัมพูชายังต้องเผชิญแรงกดดันภายใน รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้งที่มีต่อผลิตผลการเกษตร และเอดีบียังตั้งข้อสังเกตถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังชะลอตัวจนกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างสำคัญ โดยเฉพาะครึ่งแรกของปี มียอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเพียง 4.6% ต่ำกว่าปีก่อนที่มี 5.2% รายได้จากการท่องเที่ยวนั้นเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในห้าของจีดีพีประเทศ สำนักงานข้อมูลและสถิติในกระทรวงการท่องเที่ยวอธิบายว่า การชะลอตัวนั้นเกิดขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ระดับภูมิภาค ไม่ว่าความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในไทย ไข้หวัดเมอร์สระบาดในเกาหลีใต้ และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
สปป.ลาว
จีนและลาวพร้อมจับมือสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างสองประเทศกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน คาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างในอีกไม่นาน เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์นี้จะเลียบชายแดนจีน-ลาวที่บ่อเต็น และหลวงน้ำทา แล้วเข้าไปยังเวียงจันทน์ รวมความยาว 427.2 กิโลเมตร จะมาเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟในประเทศไทย เพื่อสร้างโครงข่ายระบบขนส่งเพื่อค้าขาย ลงทุน และท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-สิงคโปร์ เชื่อมจีนเข้าหามาเลเซีย ด้วยระยะเส้นทางกว่า 3,000 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเข้าไปถึงท่าเรือบ่อหาน ซึ่งเป็นท่าเรือระดับประเทศชั้นเอกที่จะเข้าสู่จีน
โดยทางการจีนสร้างเป็นเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากนานาชาติ พร้อมทั้งยังเป็นปากทางภาคพื้นดินเข้าสู่ สปป.ลาวได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนั้นแล้ว ยังเกิดความร่วมมือบริการ ATM ในประเทศ ภายใต้ชื่อ BConnex ระหว่างธนาคาร 7 แห่งในลาว ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมกันให้บริการ ATM ใน สปป.ลาว สร้างโครงข่ายบริการครอบคลุมกว่า 90% ของประเทศ โดย BConnex จะให้ลูกค้าซึ่งถือบัตรเอทีเอ็มของธนาคารกรุงศรีฯ และธนาคารทั้งเจ็ดแห่งของลาวทำธุรกรรมผ่านเครื่องเอทีเอ็มกว่า 750 แห่งในลาวได้ ซึ่งแสดงให้เห็นความพร้อมทางการเงินและระบบธนาคารของ สปป.ลาว ที่จะก้าวไปพร้อมกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหลังผ่านพ้นปี 2015
เมียนมาร์
ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้แสดงความยินดีกับผู้นำฝ่ายค้าน นางอองซานซูจี หลังพรรคการเมืองของเธอได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อพฤศจิกายน พร้อมทั้งยืนยันว่าจะส่งมอบอำนาจปกครองประเทศอย่างสันติ ผู้นำการเมืองทั้งสองขั้วได้พบปะกันที่กรุงเนปิดอว์เป็นครั้งแรก หลังการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของประเทศในรอบ 25 ปี โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานกวาดชัยชนะอย่างถล่มทลาย เหนือพรรคคู่แข่งที่มีกองทัพของเต็งเส่งหนุนหลัง
สำหรับความก้าวหน้าในภาคการเงินนั้น เมียนมาร์ได้เริ่มเปิดตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการในย่างกุ้งแล้ว ด้วยความร่วมมือจากสถาบันวิจัยไดวะจากญี่ปุ่น หลังล่าช้ามานาน 22 ปี ไม่ว่าจะด้วยเหตุวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ข้อวิตกของรัฐบาลทหาร หรือระบบการเงินที่ยังขาดประสิทธิภาพ ในวันนี้ตลาดยังคงรอคอยบริษัทห้างร้านเข้าสู่ตลาดเพื่อเริ่มเทรดต่อไป
เวียดนาม
เวียดนามคาดหวังว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในปีนี้จะสร้างสถิติสูงสุด หลังรัฐบาลผ่อนคลายกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากความได้เปรียบในข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย (Trans-Pacific Partnership, TPP) จนเกิดเป็นกระแสเรียกการลงทุนจากต่างแดนได้อย่างดี ขณะที่แรงจูงใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์เริ่มไม่ต้องตาต้องใจนักลงทุนแล้ว สะท้อนว่าเวียดนามกำลังเปล่งประกายสู่สายตานักลงทุนนอกอาเซียนมากขึ้นทุกขณะ ทั้งนี้ธนาคารโลกรายงานว่า เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากทั้ง 12 ประเทศในภาคี TPP ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดส่งออกด้วยมาตรการลดอัตราภาษีศุลกากรหลายรายการ อาทิ รองเท้า อาหารทะเล และเสื้อผ้า เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ความเป็นไปของประเทศอาเซียนในปี 2015 และยังจะช่วยชี้ทิศทางในปี 2016 อีกด้วย เราหวังว่าทุกท่านจะก้าวสู่ปี 2016 ด้วยความสุขสมหวังตลอดทั้งปี