โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศนโยบายการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเงินต่อไป แต่ไม่มีการอัดฉีดปริมาณเงินในระบบเข้ามาเพิ่มเติม(QE) เนื่องจากทางการญี่ปุ่นยังคงเชื่อมั่นแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลางต่อไป อย่างไรก็ดี ท่ามกลางบรรยากาศที่ตลาดหุ้นประเทศญี่ปุ่นไม่มีมาตรการ QE นั้น
ผมมองว่าทางการญี่ปุ่นอาจจะยังต้องการติดตามผลของพัฒนาการและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ปัจจุบันญี่ปุ่นยังสามารถใช้นโยบายทางการคลังอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นการจัดตั้งดัชนี JPX NIKKEI INDEX 400 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ในช่วงที่ผ่านมาผมได้เคยกล่าวถึงดัชนีดังกล่าวไว้บ้างแล้ว และในคอลัมน์ฉบับนี้ผมเชื่อว่าอาจมีบางท่านเกิดคำถามถึงความแตกต่างระหว่าง NIKKEI 225 กับ JPX NIKKEI INDEX 400
ในแง่ของวิธีการคำนวณของทั้ง 2 ดัชนี ดัชนี NIKKEI 225 เป็นดัชนีที่เก่าแก่ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นและเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยใช้วิธีคำนวณการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีด้วยวิธีการให้น้ำหนักในดัชนีตามราคา หรือ Price Weighted Index นั่นคือ การคำนวณสัดส่วนของราคาหุ้นแต่ละตัวใน Index โดยพิจารณาจากราคาหุ้นจำนวน 225 ตัวแรกเป็นหลัก ซึ่งทำให้หุ้นที่มีราคาสูงๆ จะมีสัดส่วนอยู่ในดัชนีค่อนข้างมาก
ปัจจุบันตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีหุ้นทั้งหมดประมาณ 4,944 ตัว ดัชนี NIKKEI 225 คิดเป็น 60% ของตลาดทั้งหมด (Coverage Ratio) ในขณะที่ดัชนี JPX NIKKEI INDEX 400 ให้น้ำหนักในการคำนวณเพื่อคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนด้วยวิธี Market Capitalization Weighted Index ซึ่งสัดส่วนของหุ้นจะพิจารณาจากขนาดมูลค่าตลาดหุ้นสูงสุด 400 ตัวแรก
โดยกำหนดเพดานของน้ำหนักสูงสุดของหุ้นแต่ละตัวไม่เกิน 1.5% ของดัชนี ทำให้หุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีราคาสูงจะถูกจำกัดสัดส่วนและมีการกระจายไปในหุ้นตัวอื่นๆ มากขึ้น ปัจจุบัน coverage ของดัชนี JPX NIKKEI INDEX 400 อยู่ที่ประมาณ 75% ของตลาด นอกจากนี้ การคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนยังเน้นคุณภาพของหุ้นด้านการทำกำไร (ROE) เงินปันผล และความโปร่งใสของการบริหารจัดการเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาด้วย
ด้านความหลากหลายของกลุ่มอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 58) พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่มีการซื้อขายใน NIKKIE 225 ประกอบไปด้วย
อุตสาหกรรมในกลุ่มค้าปลีก (Retail) ประมาณ 12.59%
โทรคมนาคม (Telecommunications) ประมาณ 7.82%
ยา (Pharmaceuticals) ประมาณ 7.37%
อุตสาหกรรมธุรกิจยานยนต์ (Auto Manufacturers) ประมาณ 5.67%
ปิโตรเคมี (Chemicals) ประมาณ 5.51%
สำหรับอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่มีการซื้อขายในดัชนี JPX NIKKEI INDEX 400 ประกอบด้วย
อุตสาหกรรมการเงินธนาคาร (BANK) ประมาณ 8%
ยา (Pharmaceuticals) ประมาณ 6.80%
อุตสาหกรรมธุรกิจยานยนต์ (Auto Manufacturers) ประมาณ 6.45%
โทรคมนาคม (Telecommunications) ประมาณ 6%
ขนส่ง (Transportation) ประมาณ 5.53%
หากพิจารณาในแง่ของความหลากหลายในอุตสาหกรรมอาจไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แต่หากมองในแง่ของโอกาสการปรับตัวของดัชนี NIKKEI 225 อาจจะมีโอกาสน้อยกว่าบ้าง ในกรณีที่ราคาหุ้นที่มีสัดส่วนน้อยในดัชนีปรับตัวสูงขึ้นในขณะที่หุ้นตัวที่มีราคาหุ้นสูงๆ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากในดัชนีปรับตัวลดลง โดยรวมดัชนี JPX NIKKEI INDEX 400 จะค่อนข้างสะท้อนการปรับตัวของราคาตลาดได้หลากหลาย ด้วยวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี ดัชนีนี้ผมมองว่าดัชนีเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ นอกเหนือจากกองทุนบำเหน็จบำนาญและผู้ลงทุนสถาบันในประเทศญี่ปุ่นเอง จึงเลือกนำมาเสนอเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศญี่ปุ่นครับ
“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”