xs
xsm
sm
md
lg

ESG Corner : แรงจูงใจโดยสมัครใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยณัฐพัช กิตติปวณิชย์
Fund Management กองทุนบัวหลวง

คุณคิดว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ช่วยให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์โดดเด่นเตะตานักลงทุน

เชื่อได้ว่าคำตอบคงหนีไม่พ้น “ผลตอบแทน” ที่จะได้คืนจากการลงทุน บริษัทหนึ่งจะเหนือกว่าอีกบริษัทก็วัดกันตรงนี้ ทัศนะดังว่าหาใช่เรื่องผิดหรือเลวร้าย เพียงแต่เป็นกรอบความคิดทางลงทุนที่จดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ และคิดคำนึงถึงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวนักลงทุนกับกิจการเพียงภาคเดียว หาได้ตระหนักถึงภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในวงจรธุรกิจ เช่น ลูกค้า ลูกจ้าง หรือชุมชนแวดล้อมรอบกิจการที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเนื้อเดียว

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า หลายบริษัทเริ่มตระหนัก และใส่ใจต่อหลักธรรมาภิบาลในงานบริหารกิจการมากขึ้น จนหลายท่านอาจนึกสงสัยว่า แรงผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดสำนึกเช่นว่าเกิดจากส่วนไหนขององค์กรธุรกิจที่ครั้งหนึ่งเคยถูกตีตราว่าเป็นเพียงเครื่องมือสร้าง และสั่งสมตัวเลขกำไรให้แก่นักลงทุน ต้องหันมาจริงจังต่อเรื่องนี้

จะไขปัญหานี้ให้กระจ่างได้ จำต้องเข้าใจหลักบริหารงานองค์กรในปัจจุบันที่ได้วางสมมติฐานไว้ว่า องค์กรมีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ในหลายด้าน ไม่ว่ายึดมั่นในสิทธิเสรีภาพ เชื่อถือในค่านิยม หรือมีแรงจูงใจผลักดันให้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ความสนใจต่อธรรมาภิบาลขององค์กรธุรกิจจึงสามารถอธิบายได้ด้วยหลักแห่งแรงจูงใจเช่นเดียวกัน

กล่าวในเชิงปรัชญา เหตุแห่งแรงจูงใจมีทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ อติมานะ (Egotism) อันตวิทยา (Teleology) และกรณียธรรม (Deontology) หากไล่เรียงดูแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากแต่ระดับแทบไม่แตกต่างกันนัก แต่ถ้าเราวิเคราะห์ให้ลึกขึ้นในกระบวนการ จะช่วยให้เห็นลักษณะธรรมาภิบาลที่แตกต่างกันไปได้ชัดเจน

ในระดับพื้นฐานแล้ว “อติมานะ” ถือเป็นแรงผลักดันที่เกิดจากผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเราปฏิเสธได้ยากว่าเป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้หลายบริษัทเข้าสู่ระบบธรรมภิบาล ไม่ว่าจะเกิดจากแรงบีบของกฎเกณฑ์กำกับดูแลจากภาครัฐ ความพยายามสร้างเสริมภาพลักษณ์ หรือเจตนาดีที่จะวางรากฐานองค์กรให้มั่นคง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ส่งผลบวกให้เกิดแก่ผลประกอบการ ซึ่งจำเป็นยิ่งต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจ แล้วยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นภาคส่วนหนึ่งของผู้ได้เสียในกิจการ

ตรงกันข้ามกับองค์กรบางแห่งที่วางนโยบายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยส่วนรวมนั้น เป็นไปตามหลักคิด “อันตวิทยา” เช่น เมื่อผู้คนต้องการพลังงาน ก็ต้องหาหุบเขาเพื่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอ หรือหาที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในย่านห่างไกลผู้คน เป็นต้น หากพิจารณาเพียงภาพรวมแล้วก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะสนองตอบความต้องการของคนส่วนใหญ่

ทว่า จุดอ่อนของแรงจูงใจระดับนี้คือ ภายใต้ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่นั้นอาจมีคนส่วนน้อยบางกลุ่มได้รับผลกระทบ ชาวบ้านที่อาศัยในหุบเขามายาวนานต้องอพยพย้ายถิ่น เพราะอีกไม่นานบ้านของเขาจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำหลังเขื่อน หรือบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ปลายน้ำ แม้จะห่างไกลโรงงาน ก็อาจรับสิ่งเน่าเสียที่ปล่อยทิ้งมาตามลำน้ำ ดังนั้นแล้วบริษัทที่ใส่ใจในหลักธรรมาภิบาลอย่างจริงจังก็จำต้องใส่ใจในปัญหาความขัดแย้งเรื่องนี้ด้วย

ท้ายสุดแล้ว อาจมีหลายบริษัทมีแรงจูงใจระดับ “กรณียธรรม” นั่นคือ ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดต่อทุกฝ่ายอย่างถี่ถ้วน ซึ่งนับว่าเป็นแรงจูงใจในระดับที่ควรชมเชยยกย่องเป็นพิเศษ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีข้อจำกัด และปัญหาในเชิงปฏิบัติ

ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนมาผลิตรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด แม้ว่าผลผลิตที่เกิดขึ้นจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งก็ตาม แต่สำหรับผู้บริโภคแล้วกลับถูกจำกัดการถึงเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งด้วยราคาขายที่สูงกว่ารถยนต์ปกติ เนื่องด้วยประกอบขึ้นโดยวิทยาการสมัยใหม่ และความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีจ่ายไฟฟ้าที่ต้องมีจำเพาะเพื่อรองรับคนหมู่มากให้ใช้งานได้จริง จึงกลับกลายเป็นว่าผู้บริโภคส่วนมากเกิดข้อจำกัดเชิงเศรษฐกิจที่จะใช้งาน หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าสำหรับคนบางระดับเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต้องชั่งน้ำหนักผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ

ในฐานะผู้บริหารกองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) กองทุนบัวหลวงได้สรรหาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีธรรมาภิบาลให้เข้ามาอยู่ในอาณาจักรการลงทุน โดยวางเกณฑ์เบื้องต้นคือ ต้องผ่าน Corporate Governance Rating เท่ากับหรือมากกว่า 3 (Corporate Governance Rating คือ ระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน ที่เผยแพร่ตามรายงานการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ระดับสูงสุดคือ 5 โดย rating 3 หมายถึงดี rating 4 หมายถึงดีมาก และ rating 5 หมายถึง ดีเลิศ) ยิ่งไปกว่านั้นเรายังเจาะจงลงทุนในบริษัทที่เอาใจใส่ดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย พร้อมทั้งตระเตรียมแผนบริหารจัดการเพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากแรงจูงใจทั้ง 3 ระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนที่สุด

เราจึงคัดเลือกให้บริษัทไมเนอร์ กรุ๊ป (MINT) ให้เป็นหนึ่งใน BKIND Universe แม้ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ประกอบกิจการหลากหลาย ทั้งร้านอาหาร โรงแรม และจัดจำหน่าย แต่ยังสามารถยกร่างแผนงานกำกับดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างละเอียด พร้อมทั้งยังให้ความสำคัญต่อทุกภาคส่วนอย่างมีหลักการ ไม่ว่าจะปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างโปร่งใส ขายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม หรือดูแลพนักงาน และครอบครัวให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมเป็นธรรม อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในแต่ละสายงานอาชีพ

ในฐานะที่มีฐานธุรกิจทั่วโลก MINT ยังจ้างงาน และพัฒนาวิชาชีพให้แก่คนในท้องถิ่นที่ตั้งกิจการ แล้วยังใส่ใจให้ความสำคัญต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบสถานประกอบการเรื่อยมา ตัวอย่างโครงการต่างๆ มากมาย เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพชุมชนในหมู่เกาะมัลดีฟส์ การปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นหายากที่นครวัด หรือโครงการฟื้นฟูโรงเรียนชุมชนในประเทศนามิเบีย เป็นต้น

แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะยังไม่ได้บัญญัติเป็นกฎหมายบังคับให้บริษัทเอกชนต้องยึดปฏิบัติ แต่ความพยายามใส่ใจต่อทุกภาคส่วนตามหลักเหตุผลนั้นจะช่วยให้สังคมโดยรวมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และไม่เบียดเบียนต่อกัน

อ้างอิง
Armstrong, Anona. "Ethical challenges to the governance practices of corporate leaders in the 21st century." (2004).


กำลังโหลดความคิดเห็น