โดย วสุ ศรีธิมาสถาพร CFP®
Product Development
บลจ.บัวหลวง
ด้วยเหตุที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังมุ่งความสนใจไปยังตลาดหุ้นญี่ปุ่น จนเวลานี้กลายเป็น “ดาวเด่น” เหนือกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับมูลค่าสูงขึ้น สอดคล้องต้องกับศักยภาพทางธุรกิจอันเข้มแข็ง นับตั้งแต่ต้นปี 2015 ดัชนี TOPIX ดีดตัวขึ้นร้อยละ 17 สร้างผลตอบแทนโดดเด่นเป็นที่หนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งที่เศรษฐกิจระดับโลกยังไม่แจ่มใสเท่าที่ควร กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่วนกลุ่มประเทศพัฒนา (DM) เช่น สหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป ก็กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ปัจจัยพื้นฐานที่หนุนเสริมทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตจนต้องจับตา มีดังนี้
1. ผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) หลายบริษัทได้ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนบทวิเคราะห์ในประเทศมากมายสนใจอภิปรายถึงแผนระยะกลางของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ โดยกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ใน Russell/Nomura Large cap Index ระบุเป้าหมาย ROE ปีนี้ที่ร้อยละ 10.6 สูงกว่าปี 2014 ที่ร้อยละ 8.7 ชี้ให้เห็นว่าผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นยังน่าสนใจ
2. แผนการซื้อคืนหุ้นคืน (Shares buyback) ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2015 บริษัทจดทะเบียนในตลาดญี่ปุ่น 168 บริษัทเปิดเผยแผนงานระยะกลางตามหลักธรรมาภิบาลว่า เตรียมจะซื้อหุ้นของบริษัทคืนในปี 2015 รวมแล้วมูลค่าถึง 1.468 ล้านล้านเยน (¥trn) นับว่าเป็นเม็ดเงินสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่แจ้งจะดำเนินการดังกล่าว เช่น Toyota Motor มูลค่า 300 พันล้านเยน, Mitsubishi UFJ Financial Group มูลค่า 100 พันล้านเยน, Mitsubishi Corp มูลค่า 100 พันล้านเยน เป็นต้น ความตื่นตัวที่จะซื้อหุ้นคืนช่วยบอกเราว่าบริษัทญี่ปุ่นนั้นสนใจปรับปรุงประสิทธิภาพของเงินลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
3. ยอดค้าปลีกพุ่ง จากการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก โดยข้อมูลขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแห่งชาติ (JNTO: Japan national Tourism Organization) ระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างแดนมาเยือนถึง 7.538 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) มาจากประเทศจีน (ร้อยละ 26), ไต้หวัน (ร้อยละ 19), เกาหลี (ร้อยละ 19), สหรัฐฯ และยุโรป (ร้อยละ 16), ฮ่องกง (ร้อยละ 6) และไทย (ร้อยละ 4) ด้วยเงินเยนที่อ่อนค่า มาตรการชอปปิ้งสินค้าปลอดภาษีที่ต่ออายุมาตั้งแต่ตุลาคม 2014 และค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงของเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ยกเลิกช่วยจูงใจให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลสู่ญี่ปุ่น ขณะที่โรคอุบัติใหม่อย่างเมอร์ส รวมทั้งโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่กำลังเป็นปัจจัยเสี่ยง อาจทำให้เกิดการสลับเป้าหมายจากเกาหลีมาเป็นญี่ปุ่นได้
แม้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา (23 มิถุนายน 2014-19 มิถุนายน 2015) จะปรับสูงขึ้นถึงร้อยละ 28 ไปแล้วก็ตาม แต่หากพิจารณาความสามารถการทำกำไรในอนาคตของแต่ละธุรกิจ ประกอบกับปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติยังให้น้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเหนือกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ดัชนี TOPIX ที่ซื้อขายในระดับ Forward PE 15.4 เท่านั้น ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวที่ 17.3 เท่าอยู่ประมาณร้อยละ -11
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจทำให้การลงทุนผันผวนบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนควรสนใจติดตาม เช่น สหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หรือโอกาสที่ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งความคาดหวังต่อผลประกอบการในปีถัดไป 2016 เป็นต้น
“ปี 2015 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับแรงหนุนจากนโยบายผ่อนคลายการเงิน (QE) เงินเยนอ่อนค่า และจำนวนบริษัทที่หันมามุ่งเน้นปรับปรุงการทำกำไร และมูลค่าของผู้ถือหุ้น จนทำให้เป็นหนึ่งในไม่กี่ตลาดที่มีผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ของนักลงทุน”
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต