xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืนได้…ด้วยกลไกตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กลไกตลาด” อยู่บนหลักของ “การค้าเสรี” สะท้อนพระพรสำคัญของมนุษย์ที่พระเจ้ามอบให้ คือ “เสรีภาพ”

พระเจ้าสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระเจ้า อาดัมกับเอวาได้รับสิทธิ์ในการ “เลือก” ที่จะเชื่อทางสว่างติดตามพระเจ้า หรือจะเชื่อทางมืด ซึ่ง “งู (ซาตาน)” กระซิบบอกว่า “พระเจ้ารักเจ้าจริงหรือ? ถ้าจริง ทำไมผลไม้นี้จึงไม่ให้”

แล้วมนุษย์ก็เลือก “งู” ทั้งๆ ที่มันไม่ได้สร้างอะไร? ไม่ได้ให้อะไร? มนุษย์ก็ยอมใจไปกับซาตานเพราะสายตา “เพ่ง” ไปด้านลบตามที่ซาตานนำ ไม่มองเห็นสิ่งดีๆ ต่างๆ มากมายที่พระเจ้ามอบให้ ท้องฟ้า อากาศ สายลม แสงแดด สัตว์ต่างๆ พืชผลไม้ต่างๆ งานในการดูแลสวน ฯลฯ แต่มนุษย์ก็เลือกมองสิ่งที่พระเจ้าไม่ได้มอบให้

นั่น...สะท้อนเสรีภาพในชีวิต

เสรีภาพในระบบเศรษฐกิจคือ ใครใคร่ทำอาชีพใด ซื้อหรือขาย ก็มีอำนาจในการ “เลือก”

คนที่ขายของดีกว่า ในราคาเท่าๆ กัน ก็มักจะได้ขาย

คนที่ขายของถูกกว่า แต่ดีเท่ากัน ก็มักจะได้ขาย

เพราะผู้ซื้อเป็นผู้มีสิทธิ์ “เลือก”

กลไกตลาดจะนำไปสู่ “ราคา” ที่เป็นไปตามกลไกตลาด และผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อ ซึ่งหลายๆ ตำราจะบอกว่าเป็น Invisible Hand หรือ “พระหัตถ์ที่มองไม่เห็น” ซึ่งผมตีความว่าเป็น “พระหัตถ์ของพระเจ้า” ในการจัดสรรทรัพยากร

การฝืนกลไกตลาด ถึงขั้นบิดเบือนกลไกตลาด มักเป็นการ “วางตัวเป็นพระเจ้า” และมักจะนำไปสู่เงื่อนไขที่ไม่เป็นจุดสมดุลตามกลไกตลาด ซึ่งจะสร้างความเสียหาย เพราะต้องมีผู้แบกรับภาระของผู้ได้ประโยชน์

1) สมมติ ราคาไก่ ตาม “กลไกตลาด” อยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท ก็เป็นดุลยภาพที่ผู้ซื้อกับผู้ขายสมดุลกัน

2) ถ้ามีใครให้นโยบายกำหนดให้เป็นกิโลกรัมละ 100 บาท อะไรจะเกิดขึ้น?

3) ผู้ซื้อก็จะซื้อน้อยลง (เพราะแพงกว่าที่จะยอมจ่าย อาจหันไปซื้ออย่างอื่นแทน)

4) ผู้ผลิตและผู้ขายก็จะผลิตมากขึ้น (เพราะเดิมที่กิโลกรัมละ 70 บาท หลายคนไม่ผลิตเพราะไม่คุ้ม แต่พอเป็นกิโลกรัมละ 100 บาท ก็อาจจะเริ่มคุ้ม) หลายคนก็อาจจะเลิกทำงานอุตสาหกรรม เลิกปลูกข้าว หันมาเลี้ยงไก่กันมากขึ้น

5) แต่เอาเข้าจริงๆ ด้วย ตามข้อ 3) ผู้ซื้อจะซื้อน้อยลง และ ข้อ 4) ผู้ผลิตและขายก็จะผลิตและขายมากขึ้น สินค้าก็จะล้นตลาด

6) ผู้ทำนโยบายก็อาจจะต้องเก็บไก่เข้าคลังจำนวนมาก

7) ถ้านโยบายนี้ยังอยู่ต่อไป ในราคาที่ “สูงกว่าสมดุล” ตามกลไกตลาด ผู้ผลิตก็จะยังผลิตมาก ผู้ซื้อก็ยังซื้อน้อย ไก่เหลือเข้าคลังแต่ละรอบก็จะยิ่งมากขึ้นๆ

8) การจะเอาของในคลังออกขายก็ต้องแข่งกับผลผลิตรอบใหม่ ไก่เก่าก็เป็นที่นิยมน้อยกว่า

9) ผู้ทำนโยบายก็คงต้องขาดทุนมหาศาล เป็นภาระสำหรับทายาทรุ่นต่อไป ก็คือลูกหลานเรานั่นเอง

เหมือนที่ผมได้เขียนบทความเสนอไปในครั้งที่แล้วว่า

“ถ้าคนไทยว่างงานไม่ถึง 1% เศรษฐกิจจะไม่ดีได้อย่างไร?” และก็ยังเป็นความจริงด้วยว่า ภาคอุตสาหกรรม ภาคก่อสร้าง ภาคประมง ภาคบริการ หาแรงงานไทยยากขึ้นมาก ก็แปลว่า คนไทยน่าจะมีทางเลือกงานดีๆ กว่านั้นจึงไม่สนใจงานหนักเหล่านี้ จากสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ “พม่าเผาเมือง” ไทย กลายเป็น “พม่าสร้างเมือง” ไทย เห็นได้ตามโครงการก่อสร้างทั่วไป แสดงว่าคนไทยมีงานทำกันมากจริงๆ จึงหาแรงงานยาก

ในสหรัฐอเมริกา ถือว่าการว่างงานระดับ 10% เป็นวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ถ้าการว่างงานเหลือเพียงต่ำกว่า 6.5% ถือว่าเริ่มฟื้นแล้ว ถ้าว่างงานระดับ 4-5% ถือว่าปกติ

คนไทยหายไปไหน? จากภาคแรงงาน หรือจากภาคบริการ

หรือหลายคนกลับไปเป็นเกษตรกร หวังรอ “นโยบาย” พิเศษ ช่วยให้ราคาสินค้า “สูงกว่ากลไกตลาด” กันอีก? แทนที่แรงงานที่ไปรอเป็นเกษตรกรนั้นจะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ฝีมือแรงงาน หรือภาคบริการ พัฒนาชาติกันมากขึ้น
การพัฒนาประเทศให้เติบโตยั่งยืน ต้องให้ “พื้นที่ปลูกข้าวต่อจำนวนชาวนาสูงขึ้น” นั่นคือ “จำนวนชาวนาต่อพื้นที่ปลูกข้าวต่ำลง” ชาวนาจึงจะได้รายได้ที่ดีขึ้นอย่างถาวร

ถ้าราคาข้าวตามกลไกตลาดอยู่ที่ 11,000 บาท/ตัน (กก.ละ 11 บาท) ก็ควรให้เป็นไปตาม “กลไกตลาดเสรี” เช่นนั้น ถ้าชาวนาปลูกแล้วไม่คุ้ม ก็น่าจะหันไปปลูกพืชอื่นเช่น แอปเปิล (ที่ญี่ปุ่น กก.ละ 200 บาท) หรือทุเรียน (กก.ละ 80 บาท) หรือทุเรียนหลินลับแลที่โด่งดังของอุตรดิตถ์ (กก.ละถึง 180 บาท)

การให้กลไกตลาดทำงานก็จะทำให้แต่ละคนเลือกการผลิต และการบริโภคได้อย่างเป็นธรรม ไม่มีใครเป็นภาระของใคร

ผมได้คุยกับเพื่อนที่ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเล็กๆ ในต่างจังหวัด ก็บ่นว่า เศรษฐกิจเหมือนชะลอตัว ผมก็เล่าให้เขาฟังว่า ก็น่าแปลกนะ เพราะคนไทยว่างงานไม่ถึง 1% เมื่อมีงานทำก็น่าจะมีกำลังจับจ่าย พอเล่าถึงเรื่อง “พม่าสร้างเมือง” เขาก็บอกว่า ถ้าเป็นด้านอีสานตอนใต้จะเป็น “ชาวเขมร” ซึ่งก็ยืนยันว่าหาแรงงานไทยยาก

สภาพนี้เข้าข่าย คนไทย “ไม่รู้ตัว” ช่วงหลังวิกฤตปี 2540 ปัญหาหลักปัญหาหนึ่งคือ Structural (ปัญหาโครงสร้าง คือ ความสามารถในการแข่งขันของแรงงาน) เรามีรายได้เฉลี่ยทั้งประเทศต่ำลงๆ เพราะเรายัง “ไม่รู้ตัว”

... เรากำลังถูกชาวต่างชาติ บ้านใกล้เรือนเคียงแย่งงานเราไปทำในบ้านของเราเอง!

แต่ถ้าคนไทยยังไม่กลับมาพยายามเข้าสู่ภาคแรงงาน สร้างผลผลิต ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน หรืองานบริการ “รอ” งานพิเศษ ขายสินค้าราคาเกินกลไกตลาด หรือรายได้สูงพิเศษ ก็อาจจะทำให้ผลผลิตรวมของคนไทยทั้งชาติยังตกต่ำได้

และการทำงานเหล่านั้นก็ไม่ใช่ “น่าน้อยใจ” หรือ “เสียศักดิ์ศรี” ผมไปที่ญี่ปุ่น ประเทศที่รายได้สูงกว่าเราประมาณ 7 เท่า คนเสิร์ฟอาหาร หรือดูแลต้อนรับเราที่โรงแรมมายืนรอส่งเรากลับด้วยความนอบน้อมอย่างภาคภูมิใจ

ขณะนี้อาจจะมีผู้อยากได้ค่าแรง 360 บาท/วัน “ทั้งประเทศ” ผมเป็นห่วงว่าจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดแรงงานอีกครั้ง ผมเชื่อว่าเปิดให้กลไกตลาดทำงานบ้าง ผู้จ้างงานในบางพื้นที่ไม่มีกำลังจ่าย 360 บาท อาจต้องเลิกกิจการอีก ซึ่งผู้ถูกจ้างก็คง

ยินดีรับอัตรา 300 บาท/วันมากกว่าจะต้องตกงาน ถ้าฝืน...เศรษฐกิจก็จะตกลงไปอีก

จะขอให้มีนโยบายใดๆ หากเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ขอให้ทบทวนหลายๆ รอบครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)


กำลังโหลดความคิดเห็น