คอลัมน์รู้ทันการลงทุน
โดยฝ่ายจัดการกองทุนตราสารทุน
บลจ.กสิกรไทย
จากเนื้อหาในตอนที่แล้วที่ได้กล่าวถึงโอกาสเติบโตของธุรกิจ eCommerce ในภูมิภาคอาเซียน โดยได้เริ่มต้นสำรวจตลาดในประเทศอินโดเซีย ซึ่งเป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจเนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตสูง และกำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจ eCommerce ในประเทศอินโดนีเซียก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น ระบบการขนส่งสินค้า และระบบการชำระเงินที่ยังขาดประสิทธิภาพ
ดังนั้นบทความในตอนนี้เราจะมาสำรวจธุรกิจที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจ eCommerce ในอาเซียนได้ต่อไป
สำหรับในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเราได้สำรวจระบบลอจิสติกส์พบว่ายังมีอุปสรรคค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับไทยและภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากการพัฒนาทางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นเกาะส่งผลให้ระบบลอจิสติกส์นั้นยากเป็นทวีคูณ เพราะการขนส่งสินค้าในอินโดนีเซียใช้เวลาโดยเฉลี่ยนานถึง 6 วันครึ่ง ขณะที่ประเทศไทยใช้เวลาเพียง 2 วัน ดังนั้น การดำเนินธุรกิจ eCommerce จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากนี้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือของบริษัทลอจิสติกส์ด้วย
ปัจจุบันบริษัทลอจิสติกส์ดั้งเดิมที่ทำธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น JNE, TIKI, Pandu, Singapore Post และ GD Express ต่างหันมาให้ความสนใจในการให้บริการของธุรกิจ eCommerce มากขึ้น รวมถึงผู้เล่นลอจิสติกส์หน้าใหม่หลายบริษัท เช่น Trunkey และ Ninja Van ได้สร้างเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เครือข่ายลอจิสติกส์ย่อยๆ แม้กระทั่งบริษัทผู้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารอย่าง GrabTaxi, Uber และ Go-Jek ก็ยังหันมาสนใจทำธุรกิจขนส่งสินค้าถึงบ้านด้วยเช่นกัน ในขณะที่บริษัทผู้ทำธุรกิจ eCommerce เองบางรายกลับมองวิกฤตเป็นโอกาสและได้ขยายตัวไปทำธุรกิจขนส่งเสียเอง เช่น บริษัท Lazada Express (LEX) ที่ขนส่งสินค้าของตนเองในฟิลิปปินส์ได้ถึง 90% ของสินค้าที่ขาย
ระบบการชำระเงินก็เป็นอีกปัญหาที่ธุรกิจ eCommerce ต้องเผชิญ เพราะคนส่วนใหญ่ถึง 57% ในอินโดนีเซียชำระเงินด้วยการโอนเงินผ่านธนาคาร ซึ่งสร้างความวุ่นวายทางเอกสารให้แก่ eCommerce ทั้งหลาย การเข้าถึงบัตรเครดิตที่มีเพียง 4.5% และการไม่ใว้ใจในระบบความปลอดภัย หลายบริษัทจึงต้องให้บริการรับชำระเงินสดถึงหน้าบ้าน เปิดโอกาสให้ธุรกิจให้บริการชำระเงินเข้ามาเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อบริษัท eCommerce
จากปัญหาที่กล่าวมายังสร้างโอกาสให้แก่บริษัท Outsource ได้เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจ eCommerce ในการสร้างระบบต่างๆ แบบครบวงจร ทั้งการจัดส่งสินค้า คลังสินค้า การชำระเงิน รวมถึงจัดการช่องทางการขายทาง online ต่างๆ เพราะบริษัทเหล่านี้จะมีความชำนาญที่เหนือกว่า ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ที่สำคัญยังมีโอกาสสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้มากกว่าการที่บริษัท eCommerce เข้าไปทำเองทั้งหมดโดยตรง
เมื่อการเติบโตของ eCommerce เริ่มกินส่วนแบ่งตลาดจากห้างค้าปลีก คำถามต่อไปคือ แล้วธุรกิจห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ได้มีการตอบโต้อย่างไรบ้าง ด้านกลุ่ม Lippo ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจห้างค้าปลีกรายใหญ่ในอินโดนีเซียก็กำลังเดินเข้ามาสู่ธุรกิจในรูปแบบ online แบบเต็มตัวด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ MatahariMall.com ในเร็วๆ นี้ และด้วยความได้เปรียบของการเป็นบริษัทดั้งเดิมที่มีเครือข่ายห้างและความพร้อมด้านลอจิสติกส์ บวกกับความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับผู้ค้ารายย่อยเดิม รวมถึงความพร้อมของคลังสินค้าที่จะใช้เป็นศูนย์ส่งสินค้าของบริษัท ทำให้เชื่อว่าการเปิดตัวธุรกิจโดยให้บริการซื้อขายออนไลน์ของ MatahariMall.com นี้จะออกมาท้าทายความเป็นเบอร์หนึ่งของ Lazada อย่างแน่นอน
เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยบ้าง บริษัทห้างค้าปลีกที่เทียบได้กับ Lippo Group ในอินโดนีเซีย ก็คือ บริษัทในเครือเซ็นทรัล ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่ได้เริ่มมองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ eCommerce อยู่ก่อนแล้ว โดยที่ผ่านมาเมื่อปี 2555 ได้มีการเข้าไปควบรวมกิจการกับ OfficeMate ซึ่งทำธุรกิจ eCommerce ที่เกี่ยวกับของใช้ในออฟฟิศ และปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลได้ใช้ระบบออนไลน์ที่มีอยู่แล้วนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดตัวธุรกิจ Central Online ทั้งนี้ การยอมขาดทุนบ้างในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ เนื่องจากต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในการพัฒนาระบบหลังบ้านต่างๆ รวมถึงการโฆษณา การเปิดตัวของ Central Online จึงกล่าวได้ว่าอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจ eCommerce รวมถึงการแข่งขันกับ Lazada เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทยก็เป็นได้
อีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการลงทุนโดยตรงในธุรกิจ eCommerce คือการลงทุนใน Supply Chain ตัวอย่างเช่น บริษัทอย่าง WHA ที่สร้างคลังสินค้าให้แก่ลูกค้าในธุรกิจ eCommerce ต่างๆ หรือ CPALL ที่มี 7-11 เป็นหน้าร้านรับส่งสินค้าให้แก่ Zalora ในประเทศไทย รวมทั้งยังมีธุรกิจ eCommerce เป็นของตัวเองอีกด้วย นอกจากนี้ การชำระเงินจากการซื้อขายผ่าน eCommerce ยังเป็นโอกาสให้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เริ่มต้นสร้างพันธมิตรเป็นคู่ค้ากับบริษัท eCommerce ด้วยเช่นกัน ในปีที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับ Alibaba เพื่อช่วยเหลือบริษัท SME ไทยในการบุกตลาด eCommerce ของจีน รวมทั้งศึกษารายละเอียดการชำระเงินผ่าน Alipay นอกเหนือจากนี้ การใช้อินเทอร์เน็ตและการเข้าถึง Smartphone ที่เพิ่มขึ้นยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจ eCommerce ในอาเซียนยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจะส่งผลต่อการพัฒนารูปแบบธุรกิจให้มีการปรับตัวและเติบโตไปอย่างไร ทั้งธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิมที่เริ่มหันเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจ eCommerce รวมถึงคู่แข่งขันรายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และธุรกิจใน Supply Chain รูปแบบใดจะมีอำนาจต่อรองหรือมีศักยภาพในการเติบโตมากกว่ากัน คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนจะต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา กระแสความนิยมของ eCommerce ในกลุ่มประเทศอาเซียนจึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสครั้งใหม่สำหรับนักลงทุน
คำเตือน : ผู้ลงทุนโปรด “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”