ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเรื่องของข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นับว่าเป็นเรื่องฮอตฮิตมากๆ เรื่องหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จึงได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในกลุ่ม AEC ซึ่งจากการที่ได้ลงพื้นที่จริงพบว่า เรื่อง E-Commerce นับว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งกำลังได้รับความสนใจไม่น้อยใน ASEAN
ปัจจุบัน E-Commerce หรือการดำเนินธุรกิจโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้เข้ามามีบทบาท และเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สั่นสะเทือนการค้าแบบดั้งเดิมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการค้าส่งหรือค้าปลีก ซึ่งการปฏิวัติการค้าขายครั้งนี้เริ่มต้นในโลกตะวันตกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งหากพูดถึงข้อดีของการซื้อขายในรูปแบบนี้ สิ่งแรกที่ทุกคนมักจะนึกถึงคือ ราคาสินค้าที่ถูกกว่า ความสะดวก และรวดเร็ว ที่สำคัญยังชอปปิ้งได้ 24 ชั่วโมง นอกไปจากนี้แล้ว ความหลากหลายของสินค้ายังเป็นตัวดึงดูดที่สำคัญที่ทำให้ eCommerce มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังรู้จักและใช้บริการซื้อขายออนไลน์ในรูปแบบ E-Commerce ไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา และจีน โดยทั้ง 2 ประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8.4 และร้อยละ 8.5 ของการค้าปลีกทั้งหมด ในขณะที่ประเทศไทยมีอยู่เพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านเราในอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีสัดส่วนไม่ต่างกับไทย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.9, 0.7, และ 0.5 ตามลำดับ ส่วนสำหรับประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนามากที่สุดในภูมิภาคก็มีสัดส่วนของการใช้บริการการค้า online อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของการค้าปลีก โดยเว็บไซต์ที่รู้จักกันดี และเป็นที่นิยม ได้แก่ eBay หรือ Lazada
จากตัวเลขของสัดส่วนการใช้บริการระบบ E-Commerce แม้ว่าขณะที่มีการขยายตัวค่อนข้างน้อย แต่หากมองในอนาคตทั้งในด้านการเติบโตของจำนวนประชากร และการอุปโภคบริโภค E-Commerce น่าจะเป็นช่องทางธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมาก โดยจะเห็นได้ว่ากองทุน Venture Capital, บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก และกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐ (Sovereign Wealth Funds) ทั่วโลกต่างต้องการเข้ามาลงทุนร่วมไปกับการเติบโตของ E-Commerce ในอาเซียน ทำให้กระแสเงินลงทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้อย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เราขอยกตัวอย่าง E-Commerce ของประเทศอินโดนีเซียซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบที่สำคัญ และถือเป็นแนวหน้าของสนามรบแห่งตลาดการซื้อขาย Online ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
อินโดนีเซีย นับว่าเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีจำนวนประชากรมากถึง 250 ล้านคน และแม้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน จะยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 29 และร้อยละ 20 ตามลำดับ แต่ด้วยอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้อินโดนีเซียมีศักยภาพสามารถดึงดูดทั้งเม็ดเงินจากการลงทุน และการแข่งขันที่รุนแรงประเทศหนึ่ง
หลังจากการพูดคุยกับหลายบริษัทที่ทำธุรกิจ E-Commerce ในอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่เริ่มก่อตั้งบริษัทมาได้เพียง 2 ถึง 3 ปี โดยผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาววัยรุ่นไฟแรง ในยุค Generation Y ที่กล้าเสี่ยงและกล้าทดลอง ซึ่งกลยุทธ์ของบริษัทเกิดใหม่เหล่านี้มุ่งมั่นที่จะหาลูกค้าใหม่ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าเดิม มากกว่าการแสวงหาเพียงผลกำไรในระยะเริ่มต้นของตลาดเท่านั้น ดังนั้น บริษัทส่วนใหญ่จึงอาจขาดทุนได้ในช่วงแรก แต่เมื่ออุตสาหกรรม E-Commerce เข้าสู่การเติบโตเต็มที่ บริษัทเหล่านี้จึงเริ่มเน้นที่จะทำกำไรมากขึ้น
ปัจจุบัน Lazada คือ ธุรกิจ E-Commerce เบอร์หนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย และเกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเติบโตถึง 305% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทสามารถระดมเงินลงทุนได้ถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนักลงทุนชื่อดังอย่าง Rocket Internet, JP Morgan, Kinnevik, Verlinvest, Temasek, และ Tesco เป็นต้น
ปัจจุบัน Lazada วางตัวเองเป็นร้าน Online แบบ one-stop ที่ขายสินค้าหมุนเวียนเร็ว และหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในบ้าน สินค้าแฟชั่น เรียกว่าตอบโจทย์ทุกความต้องการเพียงลูกค้าคลิกเข้ามาใช้บริการ ในขณะที่ Zalora เป็นร้าน Online ที่ใหญ่รองลงมา ซึ่งสินค้าเน้นไปทางด้านแฟชั่น โดยร่วมกับแบรนด์ดังๆ นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นอื่นๆ อีก เช่น Rakuten Indo, OLX, Berrybenka,และ Bukalapak ที่พอจะได้รับความนิยมบ้างในอินโดนีเซีย
เมื่อระบบ E-Commerce เริ่มติดตลาด และเป็นที่สนใจมากขึ้น สิ่งที่ติดตามมาคือ การแข่งขัน ดังนั้น เพื่อสร้างความต่างให้กับตลาด จึงเกิดรูปแบบของ E-Commerce ที่เน้นจับเป็นรายประเภทของสินค้า ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Luxola ซึ่งเป็น E-Commerce เบอร์หนึ่งทางด้านผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในอาเซียน อินเดีย และออสเตรเลีย โดย Luxola สร้างกระแส และความแตกต่างด้วยการทำวิดีโอสอนการแต่งหน้าลง YouTube พร้อมทั้งลงทุนสร้างคลังสินค้าของตัวเองเพื่อความรวดเร็วในการส่งสินค้า และสร้างความประทับใจให้ลูกค้าท่ามกลางกฎหมายเครื่องสำอางที่ยุ่งยากของประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย การเซ็นสัญญาจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวกับแบรนด์ดังๆ อย่าง SK II บ่งบอกถึงความสามารถของ Luxola ที่เหนือกว่า E-Commerce อื่นๆ ในเรื่องความสวยความงามได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ในเรื่องของอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ E-Commerce ในอินโดนีเซียคืออะไร และธุรกิจใดที่จะกลายเป็นธุรกิจที่จะสร้างโอกาสในการลงทุนที่เชื่อมโยงกับ E-Commerce รอติดตามในฉบับต่อไป
เรียบเรียงโดย ฝ่ายจัดการกองทุนตราสารทุน บลจ.กสิกรไทย
คำเตือน : ผู้ลงทุนโปรด “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”