โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
กลุ่มการลงทุนต่างประเทศและกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน
บลจ.ไทยพาณิชย์
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน จากหัวข้อที่เกริ่นไว้ หลายท่านคงมีคำถามขึ้นมาในใจว่า ทำไมช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยถึงต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อล่ะ? และคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเหตุการณ์แบบนี้จะคงอยู่แค่ชั่วคราวหรือถาวรกันนะ?
ผมขอบอกว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่เหตุการณ์เช่นนี้จะคงอยู่ต่อเนื่องไปอีกนานครับ เพราะอย่างที่ทุกท่านทราบ ธนาคารกลางของประเทศหลักทั่วโลกยังคงดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลาย เน้นอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อปริมาณเงินเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยย่อมต่ำลงเป็นธรรมดาครับ
อีกสาเหตุหนึ่งคือ เศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ชะลอตัวลงเห็นได้จากทุกประเทศทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดต่ำลง จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น ระดับหนี้สาธารณะและหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจขาดการลงทุนใหม่ๆ การค้าและการส่งออกระหว่างประเทศเติบโตช้าลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันอัตราการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมแล้วนะครับ
นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องยาวนาน เสมือนเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและนักลงทุนในทางหนึ่ง ท่านที่เคยผ่อนบ้านผ่อนรถแบบระยะเวลาสั้นๆ เพราะเสียดายไม่อยากจ่ายดอกเบี้ยสูง กลับเปลี่ยนเป็นเลือกผ่อนระยะเวลายาวขึ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผู้จัดการกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร แม้จะรู้ว่าพันธบัตรมีราคาแพง แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงเรื่อยๆ กลับจำเป็นต้องซื้อพันธบัตรเหล่านั้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะติดลบ
ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยยิ่งลดต่ำลงไปอีก รวมถึงรูปแบบของการฝากเงินที่ทุกท่านคุ้นเคย จากที่เคยมีวัตถุประสงค์ฝากเงินเพื่อผลตอบแทน กลับเปลี่ยนเป็นฝากเงินเพื่อซื้อความคุ้มครองว่าจะได้รับเงินต้นคืนในระยะเวลาที่กำหนด โดยยอมจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารในการฝากเงิน ผมขอยกตัวอย่างบางประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำมากครับ ถ้าคนสวิตเซอร์แลนด์ฝากเงินจะได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินต้นที่ฝาก เสมือนเป็นการเก็บค่าฝากเงินนั่นแหละครับ จากนี้ไปดูเหมือนกับว่าสำหรับนักลงทุนแล้ว การได้รับเงินต้นคืนนั้นจะสำคัญมากกว่าการได้รับผลตอบแทนจากเงินต้นนั้นนะครับ
ทีนี้มาดูกันว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้คืออะไร
อย่างแรกเลยครับ ตราสารหนี้ได้รับผลกระทบอย่างเจ็บปวดแน่นอน นักลงทุนเลือกลงทุนในตราสารหนี้เพื่อให้ได้รับเงินต้นคืน หรือลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อล็อกอัตราผลตอบแทนที่ติดลบในวันนี้ไว้ เพราะอัตราผลตอบแทนอาจจะลดต่ำลงอีกในอนาคต
อย่างที่สอง หุ้นได้รับประโยชน์ครับ ตามที่เราเคยเรียนรู้กันมา เวลาอัตราดอกเบี้ยลดลง มูลค่าของบริษัทจะเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของ present value และ multiple ของราคา โดยเฉพาะหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่างที่สาม อัตราแลกเปลี่ยน ผลกระทบอาจจะไม่ชัดเจน แต่ตามทฤษฎี หากสองประเทศมีปัจจัยพื้นฐานที่เหมือนกัน ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงจะดูน่าสนใจลงทุนมากกว่าประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งในกรณีนี้อาจจะสื่อมาถึงการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น การทำสัญญาแลกเปลี่ยน (SWAP) อาจเป็นตัวแทนการบริหารความเสี่ยงการเงินระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพครับ
อย่างที่สี่ การลงทุนทางเลือก แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครับ เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการก่อหนี้ของผู้บริโภค อีกทั้งระดับราคาของอสังหาริมทรัพย์ยังมีความสัมพันธ์กับราคาของหุ้นบริษัทนั้นๆ ด้วย
อย่างที่ห้า การจัดสรรเงินลงทุน ถ้าอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นเวลานาน การลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพราะโดยปกติเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น รวมถึงหนุนมูลค่าปัจจุบันของหุ้น และ multiple ของราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้การจัดสรรสินทรัพย์แบบเดิมอาจจะมีประสิทธิภาพต่ำลง ท่านจะเห็นว่าส่วนชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) ของทั้งตราสารหนี้และหุ้นได้มีมูลค่าลดต่ำลง (near risk equality) ตั้งแต่มีการทำ QE ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาครับ
อย่างสุดท้าย การบริหารความเสี่ยงการลงทุน ในสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ หลายท่านอาจเริ่มมองการลงทุนเป็นเหมือนการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่มูลค่าเงินจะลดลงในอนาคต นักลงทุนเปลี่ยนแปลงจากการบริหารการลงทุนเพื่อผลตอบแทน เป็นการบริหารระหว่างการพยายามลดการขาดทุน (loss minimization) กับความเสี่ยงของสถานการณ์ในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นครับ
พอเห็นภาพรวมของผลกระทบกันบ้างแล้ว ยังไงก็รับมือกันดีๆ นะครับ