ทีมจัดการการลงทุน
บลจ.ทิสโก้ จำกัด
ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 2558 ยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง Global GDP (g) คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากระดับ 3.1% ในปี 2557 มาที่ 3.6% ในปี 2015 (Deutsche Bank Research) การเร่งตัวขึ้นจะยังคงมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม Emerging Market ค่อนข้างจะทรงตัว โดยผลบวกของการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของภาคการส่งออกที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้อย่างกว้างขวาง
สำหรับนโยบายทางการเงินนั้น เรามองว่าจะยังคงอยู่ในโหมดผ่อนคลายอยู่ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้หยุดการฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการ QE ไปแล้วในเดือนตุลาคม ปี 2557 ก็ตาม แต่การที่ขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เรามองว่า จะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในปี 2558 โดยหลักๆ เป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมไปถึงราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ณ ปัจจุบัน
สหรัฐอเมริกา
ภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2558 ค่อนข้างจะสดใส นักวิเคราะห์ทุกสำนัก ต่างเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง GDP(g) สำหรับปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% เทียบกับระดับ 2.3% ในปี 2557 ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานที่ดีต่อเนื่อง รวมไปถึงดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ สะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาค Real Sectors เรามองว่าการกรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเกิดอย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 เป็นต้นไป
ยุโรป
ภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปในปี 2558 จะมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะตัวเลขการผลิต และเงินเฟ้อที่ยังคงปรับตัวลดลง สะท้อนภาวะเงินฝืดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง ได้เป็นตัวช่วยส่งเสริมให้ภาคส่งออกพลิกฟื้นขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างแข็งแรง ทั้งนี้เกิดจาก รากเหง้าของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระดับหนี้ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่อยู่ในระดับสูง ความไม่มั่นใจต่อการลงทุนภาค Real Sectors ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับต่ำมานาน ตลาดยังคงรอความชัดเจนจาก ECB ในรายละเอียดของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินต่อไป โดยตลาดคาดหวังถึงการทำ QE เชิงรุก (ขยายประเภทสินทรัพย์จากเดิม)
ญี่ปุ่น
ด้วยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาด รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ออกมาน่าผิดหวัง ทำให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะ ประกาศเลื่อนการขึ้น VAT ออกไปอีก 18 เดือน พร้อมทั้งประกาศยุบสภา และทำการเลือกตั้งใหม่ โดยยังคงครองเสียงข้างมาก สร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไป โดยจะทำการปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารประเทศให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าแรงสนับสนุนจากธนาคารกลางญี่ปุ่นในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QQE จะยังคงเป็นปัจจัยเชิงบวกสนับสนุน ภาค Real Sector และ Financial Sector ต่อไป
จีน
เศรษฐกิจจีนในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 7.0%-7.2% โดยการดำเนินนโยบายต่างๆ จะยังคงเน้นในเรื่องของการ Reform เศรษฐกิจจาก Investment Led มาเป็น Consumption Led ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนถูกกดดันให้อยู่ในกรอบการเติบโตที่ Policymakers ต้องการ และด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนจะยังคงอยู่ในโหมดผ่อนคลายต่อไป ซึ่งน่าจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น
ไทย
เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ 4.5% ในปี 2558 อย่างไรก็ดีประมาณการดังกล่าว ยังคงมี Downside Risk ที่ GDP (g) อาจจะต้องปรับลดลงมา สืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผ่านมายังคงเป็นไปอย่างล่าช้า การบริโภคส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสินค้าไม่คงทนเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง และราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ในขณะที่การลงทุนยังหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงภาคการส่งออก แม้ว่าจะเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านฤดูกาลมากกว่าที่จะส่งสัญญาณถึงอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น ในส่วนของแรงหนุนจากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เรามองว่าจะยังคงแปรผันตามประสิทธิภาพในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจนก่อให้เกิดการลงทุนในที่สุด เรามองว่าในปี 2558 จะเป็นปีที่ประเทศไทยจะเน้นในเรื่องของการ Reforms ในด้านต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งรวมไปถึงการร่างธรรมนูญฉบับใหม่ จนนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงต้นปี 2559
กลยุทธ์การลงทุน เรามองว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยโลกไปสู่โหมดขาขึ้นจะเป็นความท้าทายสำหรับตลาดหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในปี 2558 ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยยะเมื่อเทียบกับอดีต ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในฐานะผู้ส่งออกและผู้ลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นเราจึงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ สามารถอยู่รอดลำพังด้วยแรงขับเคลื่อนภายในประเทศของตนเอง
นอกจากนี้ เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ประกอบกับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างไม่จำกัดของธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่งผลดีต่อการลงทุนภายในประเทศเป็นลำดับต้นๆ
สำหรับหุ้นไทยนั้น จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าประเทศอยู่ในโหมดของการปฏิรูป ไม่ใช่ภาวการณ์กระตุ้นการเติบโต ด้วยเหตุนี้เราจึงมองว่าตลาดหุ้นไทยจะไม่สามารถปรับขึ้นไปได้สูงๆ เหมือนช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เรายังคงรอผลของการปฏิรูปประเทศที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ ซึ่งนั่นหมายถึงการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในลำดับถัดไป