xs
xsm
sm
md
lg

จาก Human Capital สู่ Capital Stock

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าแพทย์เป็นวิชาชีพที่มีรายได้ดี โดยเป็นผลมาจากความสามารถส่วนบุคคล เป็นวิชาชีพที่มี Human Capital มากกว่าวิชาชีพอื่นๆ โดยทั่วไป การหารายได้ของแพทย์จะมากขึ้นตามความชำนาญและประสบการณ์ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และปริมาณงานที่ทำได้ ทำให้รายได้ลดลงบ้างเมื่ออายุมากขึ้น

เพราะฉะนั้นในช่วงที่มีรายได้ดีนั้นแพทย์จึงควรเปลี่ยนรายได้จาก Human Capital ให้กลายเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่สร้างรายได้ (Financial Assets) เช่น การลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ และกองทุนต่างๆ เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้ แทนที่การทำงานด้วยตนเองในอนาคต

อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือแพทย์ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีเวลาในการจัดการลงทุน ทำให้รายได้ส่วนใหญ่หลังจากใช้จ่ายแล้วจะอยู่ในธนาคารในรูปแบบเงินฝากออมทรัพย์ หรือฝากประจำ บางส่วนซื้อกองทุนเพื่อหักลดหย่อนภาษี เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

หากเปรียบเทียบผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ในบ้านเรานั้นให้อัตราผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ โดยจากข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 15 ปี ผลตอบแทนรวมเฉลี่ยต่อปีของดัชนีพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1-3 ปีต่ำกว่า 4% ขณะที่ค่าเงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี เพราะฉะนั้นถ้าลงทุนในรูปแบบตราสารหนี้รวมกับการฝากเงินเพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะเป็นเพียงแค่รักษาอำนาจการซื้อของเงินออมให้ตามทันเงินเฟ้อเท่านั้น

ขณะที่การลงทุนในหุ้นเป็นการส่งต่อเงินส่วนที่เหลือจาก Human Capital ของแพทย์ไปยังกิจการต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อยอดผ่านการเป็นเจ้าของ Capital Stock และได้รับผลตอบแทนกลับมาทั้งในรูปของเงินปันผลและกำไรจากราคาหุ้นในอนาคต ยิ่งถ้าการลงทุนในหุ้นเป็นระยะเวลายาวนาน ผลตอบแทนรวมที่ได้จะมีความผันผวนน้อยลงเนื่องจากมีผลตอบแทนจากเงินปันผลมาสมทบทุกปี ถึงแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นลงบ้างก็ตาม

ข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องนี้พิจารณาได้จากราคาดัชนีผลตอบแทนรวม (SET Total Return Index : SET TRI) ซึ่งเป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่รวมเงินปันผลเข้าไปด้วยแล้ว (แตกต่างจากราคาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET Index ที่พิจารณาราคาเพียงอย่างเดียว)

รูปกราฟแสดงอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี คำนวณจาก SET TRI นับตั้งแต่วันแรกที่มีการคำนวณ (2 มกราคม 2545) จนถึงปัจจุบัน (18 กุมภาพันธ์ 2557) เปรียบการลงทุนแบบระยะเวลา 1, 3, 5, 7 ปี แสดงให้เห็นว่าถ้าลงทุนเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้วโอกาสขาดทุนจะไม่มีเลย (ต่ำสุดคือ +4.83% ต่อปี)

ข้อมูลที่นำเสนอนั้นเป็นภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ในบ้านเราเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนในหุ้นนั้นนอกจากให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงแล้ว ถ้าลงทุนเป็นเวลานานพอ ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนก็ยิ่งน้อยลงไป คุณหมอทั้งหลายอาจเริ่มต้นด้วยการพิจารณาหุ้นของกิจการที่ตนเองคุ้นเคยและอุตสาหกรรมที่มีความรู้ความเข้าใจดี เช่น โรงพยาบาล ซึ่งมีให้เลือกอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 10 กิจการมาลองวางแผนเปลี่ยน Human Capital ที่เหลือเฟือให้กลายเป็น Capital Stock กันเถอะครับ
สามารถศึกษาข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th/yourfirststock

ดร.ชาติชาย มีสุขโขCFP®
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น