บลจ.กรุงศรีเปิดขายกองบอนด์ 6M90 (KFFIX6M90) อายุประมาณ 6 เดือน ชูผลตอบแทนประมาณ 2.95% ต่อปี
นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด หรือ KSAM เปิดเผยว่า “บริษัทอยู่ระหว่างการเปิดเสนอขายกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M90 (KFFIX6M90) อายุประมาณ 6 เดือน มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคาร China Construction Bank
(สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 20% เงินฝากธนาคาร Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน สาขามาเก๊า) สัดส่วนการลงทุน 20% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China (Asia) (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 10% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Bank of East Asia (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 10% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Agricultural Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 10% ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 10% ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 10% และตั๋วแลกเงินออกโดยบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 10%
ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการขายคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติประมาณ 2.95% ต่อปี และหลังครบกำหนดอายุโครงการบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงิน (KFCASH) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนต่อไป
“กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M90 (KFFIX6M90) เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ เหมาะต่อนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและต้องการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และต้องการล็อกผลตอบแทน โดยสามารถลงทุนได้เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน”
สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้โลกนั้น เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ แกว่งตัวในกรอบแคบๆ ร้อยละ 0.01-0.02 ทั้งนี้ PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในขั้นต้นปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศลดลง ในขณะที่ PMI ภาคบริการคำสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนีราคาบ้านต่างปรับตัวสูงขึ้น ทางด้านยูโรโซน PMI รวมในขั้นต้นลดลงเล็กน้อยจากระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือน โดยที่ PMI ของฝรั่งเศสกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ทางด้านเอเชีย PMI ภาคการผลิตของจีนในขั้นต้นลดลงสู่ 48.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ในขณะที่ทางด้านญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงร้อยละ 0.02-0.10 โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อตราสารหนี้ระยะยาว